2.2.1 ทฤษฎีหลักการจัดการแบบวิทยาศาสตร์ (Scientific Management)
2.2.1.1 เฟรดเดอริค เทย์เลอร์ (1922) : ได้เสนอความเห็นในบทความชื่อ “The Principle of Scientific Management” ว่า การบริหารงานตามหลักวิทยาศาสตร์เป็นวิธีที่ดีกว่าการอาศัยหลักความเคยชิน (rule of thumb) ซึ่งเป็นการทำงานตามประสบการณ์ของคนงานแต่ละคนและใช้กันทั่วไปในขณะนั้น ในการบริหารงานตามความเคยชิน คนงานมีแนวโน้มที่จะอู้งาน ถ่วงงาน เกียจคร้านและคอยเลี่ยงงานอยู่ตลอดเวลา Frederick W. Taylor เชื่อว่า การบริหารแบบเดิมผู้บริหารมีหน้าที่น้อยมาก งานเบา เพราะการทำงานต่างๆ ขึ้นอยู่กับคนงาน ดังนั้น การอาศัยหลักวิทยาศาสตร์มาใช้ในการบริหารจัดการจะทำให้ผู้บริหารได้ทำงานมากขึ้น โดยกำหนดให้มีการแบ่งงานกันทำระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายคนงานอย่างเท่าๆ กัน ทั้งนี้ ผู้บริหารมีหน้าที่ดังนี้
1. สร้างหลักการทำงานที่เป็นวิทยาศาสตร์สำหรับการทำงานในขั้นตอนต่างๆ ของงาน แทนการปฏิบัติตามความเคยชิน ได้แก่
1.1 ความชำนาญเฉพาะด้าน (Specialization)
1.2 วิธีการทำงานที่ดีสุดเพียงวิธีเดียว (One Best Way)
1.3 ระบบการจูงใจโดยใช้มาตรฐานของงาน (Incentive Wage System)
1.4 การศึกษาระยะเวลาและการเคลื่อนไหวในการปฏิบัติงาน (Time and Motion Study)
1.5 ระบบการจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายชิ้น (Piece Rate System)
2. คัดเลือกคนงานตามหลักกฎเกณฑ์วิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้คนที่เหมาะกับงาน
3. พัฒนาคนงานให้เรียนรู้หลักการทำงานแบบวิทยาศาสตร์
4. สร้างบรรยากาศการร่วมมือระหว่างผู้บริหารกับคนงาน