ประณีตศิลป์
ประณีตศิลป์เป็นศิลปกรรมที่งดงามและทรงคุรค่ามากอีกสาขาหนึ่ง ประณีตศิลป์ที่นิยมทำมากในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้แก่
1. งานช่างประดับมุก เป็นศิลปะที่นิยมทำกันมากในสมัยรัชกาลที่ 1 ผลงานชิ้นเอกในสาขานี้คือ พระแท่นราชบัลลังก์ประจำพระที่นั่งุสิตมหาปราสาท องค์พระแท่นสร้างด้วยไม้ประดับมุขเป็นลายกระหนก งานประดับมุกที่งดงามมากอีกชิ้นหนึ่งคือ บานประตูพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนั้นยังมีบานประตูประดับมุกวัดพระเชตุพนวิมล มังคลาราม วัดราชโอรสาราม ตู้ประดับมุขทรงมณฑป และพระแท่นบรรจถรณ์ประดับมุข เป็นต้น
2. งานสลักไม้ งานสลักไม้ที่จัดเป็นศิลปะชิ้นเอกและ มีความสำคัญมากคือ การสลักไม้ประกอบพระมหาพิชัยราชรถและเวชยันต์ราชรถ
3. เครื่องถ้วยเบญจรงค์ ในสมัยราชกาลที่ 2 นิยมสั่งเครื่องถ้วย เบญจรงค์จากประเทศจีน โดยชาวไทยออกแบบรูปทรงและลวดลายส่งไปให้ช่างจีนทำ ลายที่นิยมส่งไปให้ทำได้แก่ ลายเทพพนม ลายราชสีห์ และลายกินนร เป็นต้น ที่เรียกว่าเบญจรงค์ เพราะเขียน ด้วยสี 5 สี คือ สีแดง เขียว น้ำเงิน เหลือง และดำ นอกจากนั้นยังมีลายที่เขียนด้วยทอง เรียกว่า ลายน้ำทอง
4. งานช่างทองรูปพรรณ รัชกาลที่ 1 ให้ฟื้นฟูและทะนุบำรุง ช่างทองรูปพรรณขึ้นใหม่ที่สำคัญได้แก่เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งประกอบด้วยพระมหาพิชัย
มงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรีธารพระกร พระแส้ พัดวาลวิชนี และฉลองพระบาทเชิงงอน นอกจากนี้ยังมีเครื่อง ราชอิสริยาภรณ์ เครื่องราชูปโภค เครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ทำด้วยทองคำจำหลัก ประดับอัญมณี
5. งานช่างถมยาดำ รัชกาลที่ 2 ให้ฟื้นฟูและฝึกหัดวิชาการทำ เครื่องถมขึ้น วิชาการสาขานี้รุ่งเรืองและแพร่หลายมากที่เมืองนครศรีธรรมราช ผลงานชิ้นเอกของ สาขานี้คือ พระราชยานถมที่พระยานคร (น้อย) ทำขึ้นถวายรัชกาลที่ 2 พระราชยานถม นี้ทำอย่างพระยานมาส มีโครงเป็นไม้หุ้มด้วยเงิน ถมยาดำทาทอง (เสนอ นิลเดช และคณะ. 2537 : 20)
วรรณคดี
วรรณคดีเป็นงานทางศิลปะที่มุ่งให้ความเพลิดเพลินทางใจและให้อารมณ์แก่ผู้อ่าน ดังนั้นภาษาที่ใช้จึงต้องมีความประณีต งดงาม และส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักเป็นส่วนใหญ่ การอ่านวรรณคดีมักจะได้รับอารมณ์ ประทับใจ สุขใจ เห็นใจ หรือซาบซึ้งใจ
วรรณคดีไทยมีลักษณะการดำเนินเรื่องหลายรูปแบบ ดังนี้
1. วรรณคดีนิทานประเภทจักร ๆ วงศ์ ๆ ซึ่งหมายถึงชื่อของ พระเอก มักมีคำว่า "จักร" หรือ "วงศ์" เช่น ลักษณะวงศ์ จักรแก้ว ศิลป์สุริวงศ์ เป็นต้น การดำเนินเรื่องวรรณคดี ประเภทนี้ มักมีโครงเรื่องอย่างเดียวกัน คือเป็นเรื่องที่พระเอกและนางเอกต้องพรัดพรากจากกัน พระเอกออกติดตามนางเอกและผจญภัยมากมายจนที่สุดก็พบนางเอกในปั้นปลาย
2. วรรณคดีนิทานที่มีเค้าเรื่องจริง ซึ่งมักเป็นเรื่องราวของบุคคล ที่เชื่อว่ามีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ เช่น ลิลิตพระลอ ขุนช้างขุนแผน ผาแดงนางไอ่ เงาะป่า ไกรทอง อิเหนา
3. วรรณคดีที่เป็นการพรรณนาอารมณ์รักโดยตรง วรรณคดีประเภทนี้มีเนื้อหาเป็นการรำพันความรักอันเกิดจากต้องพลัดพรากจากนางอันเป็นที่รัก หรือบทที่กวีต้อง เดินทางจากนางไปในแดนไกล เช่น วรรณคดีนิราศ เช่น นิราศพระบาท กาพย์ห่อโคลง นิราศ ธารโศก
4. วรรณคดีที่เป็นการพรรณนาอันแฝงอารมณ์รัก เป็นวรรณคดี ที่ผู้แต่งพรรณนาสิ่งต่าง ๆ โดยแฝงอารมณ์รักไว้ด้วย เช่น วรรณคดีประเภทกาพย์เห่เรือ
5. วรรณคดีพิธีกรรม พิธีกรรมเป็นเรื่องของการกระทำ ในสังคม ที่มุ่งผลด้านจิตใจ ดังนั้นจึงมักมีบทสวดเพื่อให้เกิดผลทางใช้แก่ผู้ร่วมประกอบพิธี เช่น ลิลิตโองการ แช่งน้ำ ซึ่งเป็นงานประพันธ์ในสมัยอยุธยาตอนต้น
6. วรรณคดีศาสนา ศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อและศรัทธา ดังนั้น จึงมีวรรณคดีที่สร้างความประทับใจและเกิดศรัทธาขึ้นในหมู่ศาสนิกชน เช่น มหาชาติคำหลวง มหาชาติคำกลอนเทศน์ ปฐมสมโพธิกถา ซึ่งเป็นพุทธประวัติที่แต่งด้วยร้อยแก้ว กวีคือสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
7. วรรณคดีคำสอน เป็นวรรณคดีที่แต่งขึ้นเพื่ออบรมจริยธรรม ขนบ ธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม ความเชื่ออันเป็นวัฒนธรรมของสังคม เป็นการถ่ายทอด วัฒนธรรม ของสังคม เช่น พระมาลัยคำหลวง นันโทนันทสูตรคำหลวง ทศชาติ พญาคำกองสอนไพร่ ซึ่งเป็นวรรณคดีคำสอนทางอีสานเป็นเรื่องอบรมประชาชน ในเมืองของตนในการครองเรือน การหาความรู้ หน้าที่พ่อบ้านแม่บ้าน กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ สุภาษิตสอนหญิง สวัสดิรักษาคำกลอน เป็นต้น
8. วรรณคดีประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องราวข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใน ประวัติศาสตร์ โดยกวีสอดแทรกจินตนาการและการใช้ภาษาให้ไพเราะ เช่น ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นต้น