1.1 ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ในภูมิภาคของประเทศไทยมีอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมายทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และอุตสาหกรรมขนาดเล็กไปจนถึงอุตสาหกรรมภายในครัวเรือนและภาคใต้ของไทยเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการเติบโตของอุตสาหกรรมเหล่านี้ หากมีการเติบโตของอุตสาหกรรมต่างๆสิ่งที่ตามมาคือปัญหามลภาวะที่เกิดขึ้นและปัญหาน้ำเสียที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เว้นแม้แต่โรงงานขนมจีนซึ่งเป็นอุตสาหกรรมภายในครัวเรือนที่มีปัญหาเรื่องของน้ำเสียที่ส่วนใหญ่แล้วอุตสาหกรรมภายในครัวเรือนในลักษณะนี้เลือกที่จะแก้ไขปัญหาน้ำเสียโดยการปล่อยทิ้งลงพื้นที่ทางการเกษตรหรือระบายน้ำเสียเหล่านี้ทิ้งลงพื้นที่คลองหรือพื้นที่ระบายน้ำสาธารณะซึ่งส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรและการส่งกลิ่นเน่าของน้ำเสียให้กับชุมชนพื้นที่ใกล้เคียง โดยหากไม่มีการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของอุตสาหกรรมหรืออุตสาหกรรมครัวเรือนอย่างโรงงานขนมจีนอาจส่งผลกระทบหลายด้านทั้งสภาวะแวดล้อมรอบพื้นที่โรงงานหรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยรอบ ซึ่งหนึ่งในปัญหาเหล่านั้นน้ำเสียที่ได้จากอุตสาหกรรมในครัวเรือนอย่างโรงงานขนมจีนควรเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขหรือพัฒนาเพื่อหาทางออกโดยการนำน้ำเสียที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ที่หลากหลายโดยการนำไปทำก๊าซชีวภาพเพื่อเป็นการลดปัญหาเรื่องกลิ่นและการนำน้ำเสียจากโรงงานขนมจีนมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยการหมักน้ำเสียจากโรงงานขนมจีนสามารถนำไปหมักร่วมกับมูลสัตว์เพื่อทำให้เกิดก๊าซชีวภาพได้ดีอีกด้วย โดยมูลสัตว์มีประโยชน์ทางด้านการเกษตรในการเพิ่มผลผลิตจากการนำไปหมักเป็นปุ๋ยคอกอีกด้วย ซึ่งมูลสัตว์ที่หาได้จากครัวเรือนส่วนมากจะเป็นมูลไก่เนื่องจากไก่เป็นสัตว์ปีกขนาดเล็กและใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อยจึงทำให้การเกษตรภาคครัวเรือนส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงไก่ มูลไก่เป็นมูลที่มีธาตุอาหารค่อนข้างสูง ซึ่งธาตุอาหารที่อยู่ในมูลไก่เป็นส่วนช่วยให้การหมักร่วมระหว่างมูลไก่และน้ำเสียจากโรงงานขนมจีนเกิดก๊าซชีวภาพที่มีประสิทธิภาพขึ้นได้
กระบวนการหมักร่วมเพื่อให้เกิดก๊าซชีวภาพนั้นมีหลายกระบวนการโดยกระบวนการหมักร่วมของถังกวนแบบกวนผสมสมบูรณ์ (Continuously Stirred Tank Reactor : CSTR) เป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่สามารถทำได้ง่ายและเป็นวิธีที่นิยมในการหมักเพื่อให้เกิดก๊าซชีวภาพจากกระบวนการหมักร่วมในระบบ CSTR นั้นมีคุณสมบัติในการผลิตก๊าซชีวภาพได้ดี อีกทั้งยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้สารอินทรีย์และแบคทีเรียสัมผัสกันมากขึ้น และเหมาะกับน้ำเสียประเภทโรงงานประเภทอุตสาหกรรมอีกด้วย
อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้เป็นการหมักร่วมโดยการมูลไก่และน้ำเสียจากโรงงานขนมจีนโดยใช้กระบวนการการหมักร่วมในระบบ CSTR เพื่อศึกษาอัตราส่วนที่ดีที่สุดของค่า COD ระหว่างมูลไก่และน้ำเสียจากโรงงานขนมจีนที่ให้ปริมาณมากที่สุดในกระบวนการหมักร่วมในระบบ CSTR และเพื่อหาจลนพลศาสตร์ของการผลิตก๊าซชีวภาพจากการหมักร่วมระหว่างมูลไก่และน้ำเสียจากโรงงานขนมจีนในกระบวนการหมักร่วมในระบบ CSTR