ในยุคที่เรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมประชาคมอาเซียน การทำงานร่วมกับชาวต่างชาติในที่นี้อาจไม่ได้หมายความถึงฝรั่งตะวันตก เช่น อเมริกา หรือยุโรป หรือแถบเอเชียตะวันออกเช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีแต่เพียงอย่างเดียว ประชาคมอาเซียนที่เป็นเพื่อนบ้านรายรอบของเราก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน และยิ่งการค้าเสรีที่เปิดกว้างมากขึ้น บริษัทต่างชาติเหล่านี้ที่เข้ามาลงทุนในไทย หรือเราเข้าไปลงทุนในบ้านเมืองเขาก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสหรือมีความจำเป็นจะต้องทำงานร่วมกับชาวต่างชาติ แต่คุณยังไม่รู้จะปฏิบัติตัว เริ่มต้นทำงานกับเขาอย่างไร jobsDB มีเทคนิคง่าย ๆ ในการทำงานร่วมกับพวกเขาเหล่านี้มานำเสนอค่ะ
ตรงต่อเวลา
กฎข้อนี้ถือเป็นกฎข้อที่สำคัญมากที่สุดข้อหนึ่ง อย่าให้ชาวต่างชาติที่อาจเป็นเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานของคุณดูถูกเราได้ว่า “คนไทยไม่มีวินัย ชอบมาสาย” หรือ “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” ข้ออ้างว่ารถติดอาจฟังขึ้นแค่ครั้งแรก แต่อย่าทำให้มันกลายเป็นคำติดปากของคุณ เพื่อใช้แก้ตัวเวลาที่คุณมาสายบ่อยครั้ง คุณต้องเผื่อเวลาเดินทางก่อนออกจากบ้าน ศึกษาและวางแผนเส้นทางการเดินทางของคุณให้ดี เพื่อที่คุณจะได้ไม่ผิดนัด ทำให้งานเสียหายล่าช้า และสร้างความประทับใจที่ไม่ดีให้กับผู้ร่วมงานชาวต่างชาติของคุณ
กล้าแสดงความคิดเห็น
คนไทยส่วนใหญ่มักจะขี้อายและไม่กล้าแสดงออก ยิ่งถ้าคู่สนทนาเป็นชาวต่างชาติด้วยแล้ว ยิ่งเหมือนมีอะไรมาปิดปากเราไว้ทำให้ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ขอให้มองชาวต่างชาติว่าเป็นเพื่อนร่วมงานคนไทยคนหนึ่ง หากคุณมีข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะใด ๆ ที่เกี่ยวกับงาน อย่าเก็บเอาไว้ภายในใจเพียงอย่างเดียว จงพูดและแสดงความคิดเห็นที่คุณมีออกมา เพื่อให้เจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานรับทราบความคิดของคุณ เป็นการเปิดโอกาสให้เขาเห็นความสามารถของคุณ เพื่อผลสำเร็จในงานที่ดี การทำงานร่วมกันเป็นทีมเวิร์คที่ราบรื่น และความก้าวหน้าในการทำงานของคุณเองด้วย
กล้าเสนอความคิดที่แตกต่าง
ในการทำงานกับชาวต่างชาติ หากคุณเป็นคนขี้เกรงใจ ช่างประนีประนอม เราอยากให้คุณลด ละนิสัยเหล่านี้ลงสักนิด เพราะความขี้เกรงใจอาจสร้างความขัดแย้งในงานที่ทำร่วมกันได้ง่ายขึ้น เนื่องด้วยคุณอาจไม่กล้าโต้เถียงหรือโต้แย้งในสิ่งที่คุณไม่เห็นด้วย กลับยอมทำตามที่เขาสั่งหรือเสนออยู่เสมอ สุดท้ายปัญหาและความขัดแย้งในการทำงานก็เกิดขึ้น เมื่อใดที่คุณมีความคิดเห็นขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายชาวต่างชาติ ขอให้คุณฮึดที่จะลุกขึ้นมาโต้แย้งอย่างมีเหตุผลโดยไม่ใช้อารมณ์ แสดงจุดยืนที่คุณมีให้ชัดเจน เราเชื่อว่าเขาเหล่านั้นจะรับฟังในเหตุผลที่คุณมี และนำมาปรับใช้เพื่อหาทางออกที่ลงตัวอย่างแน่นอน
กล้าถามเมื่อไม่เข้าใจ
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยถามคำถามอาจารย์หรือวิทยากรหลังการเรียนการสอนหรือหลังการอบรมเสร็จสิ้นเลย เป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยยกมือเวลาได้รับคำถามว่า “ใครมีอะไรสงสัย หรือไม่เข้าใจหรือไม่” เราอยากให้คุณเริ่มหัดยกมือถามคำถามกับเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานชาวต่างชาติของคุณเมื่อคุณสงสัย หรือไม่เข้าใจใด ๆ ในงานที่คุณต้องทำร่วมกัน อย่าอาย หรือกลัวว่ามันจะทำให้คุณดูไม่ฉลาด เพราะการถามคำถามเพื่อเคลียร์ให้กระจ่างตอนนี้ ดีกว่าต้องตามไปแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในงานเพราะความไม่เข้าใจในภายหลัง ถ้าคุณกล้าถาม คุณก็จะได้รับคำตอบและจะทำให้ไม่มีอุปสรรคในการทำงานร่วมกัน
ฝึกหัดภาษาและเรียนรู้วัฒนธรรมเพิ่มเติม
ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางที่ทั้งโลกใช้ในการสื่อสาร คุณควรหมั่นฝึกฝน ค้นคว้า เรียนรู้ภาษาอังกฤษ หรือภาษาที่สามที่คุณสนใจหรือต้องใช้ในงานของคุณเพิ่มเติมอยู่เสมอ นอกจากภาษาแล้ว การทำความเข้าใจในวัฒนธรรมของชาวต่างชาติที่คุณต้องร่วมงานด้วย หรือวัฒนธรรมขององค์กรต่างชาติที่คุณทำงานด้วย เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง ภาษาจะทำให้คุณสื่อสารกันรู้เรื่อง และวัฒนธรรมจะทำให้คุณเข้าใจกันและกันมากยิ่งขึ้น เมื่อคุณมีความเข้าใจในเพื่อนร่วมงานต่างชาติของคุณมากขึ้นแล้ว คุณจะมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และงานจะออกมาราบรื่น