ทฤษฎีที่มีความสำคัญต่อรัฐประศาสนศาสตร์หรือทำไมนักรัฐประศาสนศาสตร์จึงต้องให้ความสนใจต่อทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์ ทั้งที่ๆ รัฐประศาสนศาสตร์เป็นศาสตร์ประยุกต์ เป็นสหวิทยาการ และเป็นศาสตร์กึ่งปฏิบัติ ประเด็นนี้ Frederickson and Smith (2003) กล่าวอย่างชัดเจนว่าจำเป็นที่ต้องให้ความสนใจต่อทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์ เพราะการใช้แต่สามัญสำนึก ปัญญา และประสบการณ์ของนักบริหารนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้นักบริหารสามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางสังคมได้ ขณะเดียวกันทฤษฎีก็จะช่วยสร้างองค์ความรู้ในรัฐประศาสนศาสตร์ให้มีความแข็งแกร่ง แต่ปัญหามีอยู่ว่าทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์กำลังจะพัฒนาไปในทิศทางใดในการสร้างองค์ความรู้ของรัฐประศาสนศาสตร์
เมื่อกล่าวถึงทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์ สิ่งที่น่าพิจารณาในการกำหนดทิศทางของทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์ก็คือ คำถามที่ว่าทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์มีกี่ประเภท คำตอบของเรื่องนี้ก็คือว่า ทฤษฎีจะมีกี่ประเภทนั้นก็ขึ้นอยู่กับเกณฑ์การนำมาใช้ในการจัดประเภท หรือเกณฑ์ที่นำมาใช้เป็นการแบ่ง เช่น การนำเกณฑ์เกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาองค์ความรู้มาใช้ในการจัดประเภทก็จะสามารถแบ่งได้เป็นทฤษฎีเชิงอุปมาน (Deductive Theory) กับทฤษฎีเชิงอนุมาน (Inductive Theory) ถ้าแบ่งตามขนาดของแนวคิดก็อาจแบ่งเป็นทฤษฎีมหภาค เช่น ทฤษฎีด้านทางเลือกสาธารณะ และทฤษฎีจุลภาค เช่น ทฤษฎีองค์การต่างๆ แต่ถ้าแบ่งตามจุดมุ่งหมายของทฤษฎี Stephen K Bailey (1968) ได้จำแนกทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์ออกเป็น 4 ประเภท
1.Descriptive – Explanatory Theory เป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการพรรณนาและอธิบายโดย Descriptive Theory เป็นการพรรณนาที่มีตัวแปรตัวเดียว เป็นการพรรณนาลักษณะต่างๆ ของตัวแปรตัวนั้นในมิติต่างๆ ส่วน Explanatory Theoryเป็นการอธิบายที่มีตัวแปร 2 ตัว คือ สามารถระบุได้ว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัจจัยอีกปัจจัยหนึ่งตามมา เช่น ความผูกพันต่อองค์การมีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานในองค์การ เป็นต้น
2. Assumptive Theory เป็นการกล่าวถึงเงื่อนไขที่เกิดก่อนแล้วนำไปใช้ในการทำนายเหตุการณ์ที่จะเกิดตามมา ในลักษณะ if X, then Y เช่นเมื่อเห็นงบโฆษณาขององค์การเพิ่มขึ้น สิ่งที่น่าจะตามมาก็คือการเห็นยอดขายขององค์การเพิ่มขึ้น ดังนั้นทฤษฎีที่อธิบายให้ผู้สนใจมีความเข้าใจในทฤษฏี Descriptive and Explanative มากยิ่งขึ้น
3. Instrumental Theory เป็นทฤษฎีที่เกี่ยวกับเครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์ซึ่งถูกนำมาใช้ในรัฐประศาสนศาสตร์ เนื่องจากรัฐประศาสนศาสตร์เป็นศาสตร์ประยุกต์จึงต้องมีเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ เช่น ทฤษฎีจูงใจ ทฤษฎีภาวะผู้นำ หรือทฤษฎีเกี่ยวกับเทคนิคการบริหารต่างๆ เช่น ทฤษฎีเกี่ยวกับ QC, PMQA หรือ ทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารโดยวัตถุประสงค์
4. Normative Theory เป็นการศึกษาถึงสิ่งที่ควรจะเป็น จึงเป็นเรื่องของการใช้ค่านิยมในการตัดสินใจแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับรัฐประศาสนศาสตร์ เพราะรัฐประศาสนศาสตร์เกี่ยวเนื่องกับผู้บริหารที่จำเป็นจะต้องไปเลือกปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ซึ่งต่างจากทฤษฎีประเภทอื่นๆ ที่กล่าวที่เน้นการให้ความรู้แต่ทฤษฎีทางด้าน normative จะให้ทางเลือกในการตัดสินใจจึงเป็นทฤษฎีที่มีความสำคัญ
อย่างไรก็ตามนักทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์ส่วนใหญ่นิยมที่จะแบ่งทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์ออกเป็น 2 ประเภท คือ ทฤษฎีเชิงประจักษ์ (Empirical Theory) และทฤษฏีเชิงปทัสถาน (Normative Theory) (อุทัย เลาหวิเชียร, 2550) โดยทฤษฎีเชิงประจักษ์จะครอบคลุมถึงทฤษฎีการพรรณนาและอธิบาย (Descriptive -Explanatory) ทฤษฎีทำนายตามเงื่อนไขที่เกิดก่อน (Assumptive Theory) และทฤษฏีที่เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์ (Instrumental Theory) ตามแนวคิดของ Stephen K Bailey นั้นเอง ทั้งนี้ โดยทฤษฎีเชิงประจักษ์จะเป็นทฤษฎีและแนวความคิดที่เน้นการสั่งสม องค์ความรู้ของวิทยาศาสตร์ (Science) ส่วนทฤษฎีและแนวความคิดเชิงประจักษ์เน้นการอธิบายเชิงปรัชญาและค่านิยม ดังนั้น ทฤษฎีทั้งสองแนวจึงมีการแสวงหาองค์ความรู้และการนำมาประยุกต์ใช้ที่แตกต่างกันอย่างมาก โดยทฤษฎีและแนวความคิดทั้งสองต่างก็มีจุดอ่อนและจุดแข็งที่แตกต่างกัน อนึ่ง จะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน ทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นทฤษฎีเชิงประจักษ์ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีมนุษยสัมพันธ์ ทฤษฎีตัวแบบการตลาด หรือทฤษฎีองค์การ ต่างล้วนเป็นทฤษฎีที่เน้นการเพิ่มพูนความรู้แทบทั้งสิ้น