“มาลองสูดกลิ่นสาบ(ชาวสวนยาง)จาก (สามัญ) จิตรกรรม ของวิวัฒน์ จินดาวงศ์
“ในช่วงเวลาที่ยางพารากำลังขึ้นแล้ว!!! เค้าว่ากันว่าจาก 3กิโล 100ขึ้นมาเป็น5 กิโล 100”
แต่ช่างมันเถอะ มาสนใจผมเล่าสรรเสริญและแอบนินทาถึงศิลปินที่น่าจับตามองผู้หนึ่งให้ฟังกันดีกว่าครับ
“แก้ว” คือ ชื่อเล่นที่ผมใช้เรียกวิวัฒน์จินดาวงศ์ ศิลปินรุ่นน้องและลูกศิษย์ที่รักยิ่งคนหนึ่งซึ่งรู้จักสนิทสนมและช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาหลายปีแก้วเป็นคนปักษ์ใต้อยู่จังหวัดพัทลุง ครอบครัวมีอาชีพเป็นชาวสวนยางพารามาแต่ไหนแต่ไรแรกรู้จักกันใหม่ๆสมัยเข้าเรียนที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อเกือบสิบปีก่อนตอนนั้นผมอยู่ในฐานะรุ่นพี่ปี 5เข้าใจไปว่ารุ่นน้องปี 1ผู้นี้จะต้องมีพื้นเพเป็นคนอีสานแน่นอน เพราะสังเกตจากบุคลิกและรูปร่างหน้าตาเรียกได้ว่าเป็นชายชาวชนบทขนานแท้และดั้งเดิม ที่ยิ่งไปกว่านั้นในการรับขวัญน้องใหม่จากรุ่นพี่ปี 2แก้วได้รับบทบาทสำคัญยิ่ง แห่งการก้าวเข้ามาสู่วงการโลกศิลปะมายาเค้าได้เป็นถึงตัวแทนพระเอกจาพนม ยีรัมย์ ในภาพยนตร์ดัง เรื่อง “ องค์บาก”ซึ่งมาพร้อมกับวลีเด็ดที่ต้องจดจำจนกลายเป็นตำนานของแก้วไปโดยปริยาย เพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนขึ้น กรุณาจินตนาการตามช้าๆ แล้วผมจะเล่าเหตุการณ์วันนั้นให้ฟังกันต่อครับ
เมื่อผู้กำกับ(รุ่นพี่) สั่ง แอ๊คชั่น ทันใดนั้นแก้วซึ่งอยู่ในท่าเตรียมพร้อม ก็กระโจนเข้าสวมวิญญาณ ออกท่าทางกำหมัดยกแข้งกางขา และพร้อมกับการเปล่งเสียงตะโกนดังๆออกมาว่า“ช้างกูอยู่ไหน!!!”สิ้นคำกล่าวเพียงเท่านั้น สาวๆคณะต่างๆก็ถึงกับแตกฮือในบัดดล จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าสาวๆเหล่านั้นจะตกใจและหลงใหลในความหล่อเท่ห์หรือปะทะเข้ากับ“กลิ่นสาบ”ของน้องใหม่อย่างแก้ว(รวมถึงคนอื่นๆ) ที่โชยทะลุทะลวงมวลมหาประชาSheมาถึงวงการศิลปะไทยและกลายเป็นศิลปินรุ่นใหม่ชั้นนำในทุกวันนี้ได้อย่างไรกัน นั่นซิครับ!นึกๆก็อยากรู้ เพราะผมเล่าเสียจนยืดยาวมาถึงตรงนี้ จนหน้ากระดาษก็ใกล้จะหมดลงผมก็ยังคงชักแม่น้ำทั้งห้าอยู่ แต่ทว่าท่านผู้อ่านคงจะเริ่มได้กลิ่นตุๆ จากประวัติความหลังของแก้วขึ้นมาบ้างสักเล็กน้อย ทีนี้เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาผมจะเล่าเรื่อง“กลิ่นสาบ”ในงานศิลปะของแก้วให้ฟังกันต่อเลยเมื่อพร้อมแล้วขอให้ท่านผู้อ่าน กรุณาสูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆ แล้วผ่อนลมหายใจให้เลื่อนไหลเข้าออกอย่างเป็นจังหวะ เพราะกลิ่นที่ว่านี้มันค่อนข้างรุนแรงและสะเทือนอารมณ์อยู่พอสมควร
ผมขอเริ่มจากขนาดผลงานแต่ละชิ้นของแก้วที่มีขนาดของเฟรมใหญ่โตมหึมา เรียกได้ว่าสูงจนท่วมหัวเจ้าของผู้เขียนผมเดาไปว่าขนาดภาพมันอาจสะท้อนความรู้สึกถึงคุณค่าความหมายอันยิ่งใหญ่ในเนื้อหาเรื่องราวที่เขียนลงไปแล้วถามต่อว่า“แก้วเขียนรูปอะไรลงไป”ผมตอบให้เองว่า“แก้วเขียนรูปและเรื่องสามัญที่สุดคือรูปและเรื่องของวิถีครอบครัวชาวสวนยางหรือแก้วได้เขียนชีวิตของตัวเค้าลงไปนั่นเอง”
เมื่อได้พิจารณาความสามัญจาก“รูปและเรื่อง” มันช่างดูตรงกันข้ามกับขนาดของชิ้นงานที่ใหญ่โต เกิด“สัมพันธภาพของความขัดแย้ง” ขึ้นในผลงาน ทำให้เห็นได้ว่าอาชีพชาวสวนยางธรรมดาๆมันมีคุณค่าความสำคัญขึ้นเนื่องจากเป็นอาชีพที่เลี้ยงครอบครัวและตัวเค้าเองมาจนเติบใหญ่ ความสุขที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากเม็ดเงินที่มากมาย หากเป็นเพราะราคายางพาราในปัจจุบันนี้มีแต่จะย่ำแย่ลงไปจนบางครั้งคราวความลำบากมันอาจส่งผลให้เกิด “ความทุกข์ขึ้นทางกาย”แต่ในทางตรงกันข้าม “ความสุขทางใจ”มันกลับงอกงามเพิ่มพูนและได้ขยายขอบเขตออกไปสู่ความงามของวิถีชาวสวนยางภาคใต้และที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทยอย่างไม่รู้จบสิ้นเฟรมผ้าใบที่เห็นว่ามีขนาดใหญ่โตจึงทำให้ผมรู้สึกได้ว่ามันเล็กย่อมลงไปอย่างถนัดตา
ในขณะที่ผมเริ่มรู้สึกว่าตนเองตัวเล็กลง จึงทำให้มองเห็นความสามัญที่ยิ่งใหญ่ ภายในผลงานของแก้วชัดเจนมากยิ่งขึ้นท่านผู้อ่านคงจะสงสัยอีกแล้วว่า ผมมองเห็นอะไรในเมื่อทีแรกผมได้เชื้อชวนท่าน ให้มาลองสูด“กลิ่นสาบทางความรู้สึก”ต่างหากครับใช่!! ต่อไปนี้เป็นสิ่งสามัญที่ผมจะใช้จิตสัมผัสและทำนาย(เดา)มันออกมาและหวังให้ท่านผู้อ่านช่วยทดลอง มาดมกันดู เผื่อว่าดวงจะออกมาดีก็เป็นได้……
ผมเห็น เนื้อหาเรื่องราว สามัญ คือ วิถีชีวิตชาวสวนยางที่เรียบง่าย ใกล้ตัว
รูปทรงของวัตถุสามัญอย่างเสื้อผ้า และเครื่องนุ่งห่มต่างๆ อันเป็นชุดเครื่องแบบของชาวสวนยางที่แสดงร่องรอยอันเกรอะกรัง และฝังลึก จากการทำงาน เช่น คราบเหงื่อไคล ดินโคลน เศษธัญพืช ยางไม้ ฯลฯที่ศิลปิน(แก้ว) ต้องการแสดงความคิด อารมณ์ และความรู้สึกในเชิงทัศนศิลป์
เทคนิคทางศิลปะสามัญ ด้วยวิธีการวาดเส้นด้วยผงถ่านคาร์บอนสร้างพื้นผิวและมิติขาวดำ
การนำเสนอผ่านงานจิตรกรรมเหมือนจริงที่แสดงมายาภาพและมายาคติ โดยเสนอความเป็นไปของวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมสามัญได้แก่ การเก็บตากเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มบนราวของชาวสวนยางโดยปกติทั่วไป
การสร้างและเสพงานจิตรกรรมให้รู้สึกได้กลิ่นว่ายากแล้วการเขียนบทความให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพและได้กลิ่นนี่ สำหรับผมรู้สึกว่าอาการจะสาหัสกว่ามาก เอาเป็นว่าหากผลงานของแก้วปรากฏรูปอยู่ตรงหน้าท่านก็ขอให้ยืนเว้นระยะห่างออกมาสัก 4 เมตรมองดูให้ทั่วทั้งผืนภาพ แล้วจึงลองเข้าไปใกล้ๆ เพื่อ “สูดกลิ่นสาบแห่งความรู้สึก”ของวิถีสามัญชาวสวนยาง พิจารณามันด้วยใจและความรู้สึกของตัวท่านเอง เพราะท่านอาจจะสัมผัสต่างออกไปจากผมมาถึงตรงนี้แล้วท่านล่ะ“รู้สึก” ได้กลิ่นอะไร รึยัง?
ชูศักดิ์ ศรีขวัญ
นครปฐม มกราคม 2559