ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประชาคมอาเซียน อุปสรรคสำคัญ หรือ โอกาสทางธรุกิจ?
นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำหลายประเทศ ระบุถึงการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ว่าถือเป็นความพยายามที่ดี แต่จะเป็นประชาคมได้แค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องเพราะเสาหลักด้านการเมืองความมั่นคง และเสาหลักด้านสังคมวัฒนธรรมมีความท้าทายมาก ไม่น่าจะรวมตัวกันได้ง่าย ขณะที่เสาหลักด้านเศรษฐกิจมีความคืบหน้ามากที่สุดแต่อย่างไรก็ตาม มิติด้านเศรษฐกิจก็เสี่ยงจะสะดุด หากมีปัญหาทางการเมืองในภูมิภาค
การรวมตัวทางการเมืองและวัฒนธรรมทำได้ยาก เพราะย้อนกลับไปในอดีตตั้งแต่ก่อนเป็นรัฐชาติ ประวัติศาสตร์ในภูมิภาคนี้มีแต่ความขัดแย้ง เต็มไปด้วยการสู้รบ ก่อนหน้าที่ลัทธิล่าอาณานิคมจะเข้ามาด้วยซ้ำหลังจากนั้นเจ้าอาณานิคมก็ทิ้งความขัดแย้งเอาไว้อีก นอกจากนี้อาเซียนยังมีความหลากหลายมาก ในโลกนี้ไม่มีวัฒนธรรมเอเชีย ซึ่งแตกต่างจากประเทศตะวันตกที่มีอารยธรรมตะวันตก อย่างสหภาพยุโร(อียู) มีศาสนาคริสต์เหมือนกัน แม้คนละนิกาย การเมืองเป็นระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน มีเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและมีรากมาจากอารยธรรมกรีก
ในด้านการเมืองและความมั่นคงอาเซียนมีระบอบการปกครองแตกต่างกันตั้งแต่ระบอบเผด็จการโดยพรรค สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประชาธิปไตยเสี้ยวใบ ครึ่งใบ และค่อนใบ ดังนั้น การจะทำให้ทุกประเทศมีกรอบความคิดเกี่ยวกับความมั่นคงให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเป็นเรื่องยาก เพราะแต่ละประเทศมีความอ่อนไหวในประเด็นต่างๆ ไม่เหมือนกัน ทั้งในเรื่องสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ ประชาธิปไตย ก่อการร้าย ภาวะโลกร้อน ปรากฏการณ์ธรรมชาติ ฯลฯ เมื่อการตีความต่างกันการมองปัญหาและแก้ปัญหาก็ย่อมแตกต่างกันที่สำคัญ ความมั่นคงยังเป็นเรื่องที่ต่อรองไม่ได้ ไม่เหมือนเรื่องเศรษฐกิจที่หากผลประโยชน์ลงตัวก็คบหากัน
ด้านวัฒนธรรม การจะสร้างอัตลักษณ์เดียวกัน โดยให้ประชาชนคิดว่าเป็นพลเมืองอาเซียนเป็นอันดับแรก แล้วค่อยคิดถึงความเป็นพลเมืองในประเทศสมาชิกเป็นอันดับ 2 ไม่ใช่จะทำได้ง่าย ทั้งจากประวัติศาสตร์บาดหมาง ประกอบกับการกลับมาของลัทธิชาตินิยมภายหลังลัทธิอุดมการณ์สลายไปตั้งแต่หมดยุคสงครามเย็น โดยเฉพาะเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรและเรื่องชาติพันธุ์เผ่าพันธุ์ ศาสนา
นอกจากนี้ สมาชิกอาเซียนทั้งสิบยังมีระดับพัฒนาการต่างกัน ขณะที่กฎบัตรอาเซียนที่เป็นเหมือนรัฐธรรมนูญของสมาชิกก็ไม่มีการบังคับให้เคารพกฎบัตรและไม่มีบทลงโทษ ซึ่งล้วนมีส่วนฉุดการรวมตัวเป็นประชาคม