1. เศรษฐกิจของสังคมไทยในปัจจุบัน เป็นเศรษฐกิจทุนนิยมโดยพื้นฐาน คือชีวิตทางเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่ในสังคมดำเนินไปตามวิถีการผลิตแบบทุนนิยม(1) แต่เศรษฐกิจทุนนิยมของสังคมไทยนั้นมีลักษณะแตกต่างจากทุนนิยมในประเทศตะวันตกที่เป็นต้นกำเนิด ความแตกต่างที่สำคัญคือ การก่อกำเนิด ทิศทางและกระบวนการพัฒนาที่ผ่านมา และโครงสร้างของเศรษฐกิจทุนนิยมไทย
จากที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษใช้สนธิสัญญาเบาว์ริ่งที่ไม่เสมอภาค (พ.ศ.2398) บีบบังคับไทยให้เปิดประเทศ โดยไทยต้องเสียเปรียบในด้านการค้า การศาล และการเก็บภาษี ต่อมามหาอำนาจตะวันตกอื่นๆ ก็ได้เข้ามาทำสัญญาเช่นเดียวกันนี้กับไทย การรุกรานของเหล่านักล่าอาณานิคมครั้งกระนั้นได้ทำให้พื้นฐานเศรษฐกิจที่ผลิตเองใช้เองในสังคมศักดินาไทยค่อยๆ สลายตัวลง ขณะเดียวกันก็ได้เร่งให้ปัจจัยทุนนิยมขยายตัวขึ้น การผลิตเพื่อขายเริ่มแพร่หลาย การขูดรีดที่เจ้าขุนมูลนายเก็บส่วยจากไพร่ และเจ้าที่ดินรีดนาทาเร้นค่าเช่านาและดอกเบี้ยสูงจากชาวนาในระบบศักดินา ได้เปลี่ยนไปเป็นการขูดรีดด้วยกลไกตลาดที่ผูกขาดมากขึ้นๆ เหล่าจักรพรรดินิยมนักล่าอาณานิคมไม่ได้ต้องการพัฒนาประเทศไทยเป็นทุนนิยม หากต้องการได้ไทยเป็นตลาดของผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม และแหล่งวัตถุดิบราคาถูกตามยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจในยุคนั้น ดังนั้น ในขณะที่ทำให้เกิดปัจจัยทางทุนนิยมขึ้นในสังคมไทย อีกด้านหนึ่งก็ได้ทำลายขัดขวางการพัฒนาทุนนิยมในไทยด้วย หัตถกรรมพื้นเมือง เช่นการทอผ้า การทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งเป็นหน่ออ่อนของทุนนิยมแห่งชาติที่เริ่มฟักตัวขึ้นในสังคมศักดินาก็ถูกทำลายขัดขวางไม่ให้เจริญเติบโตโดยสินค้าอุตสาหกรรมจากต่างชาติ
นอกจากนายทุนต่างชาติ นายทุนไทยที่เกิดในยุคนี้ ส่วนใหญ่เป็นนายทุนพาณิชย์และการเงินซึ่งมาจากเจ้านายและขุนนางในราชสำนัก เช่นเจ้าภาษีอากร และพ่อค้าชาวจีนจำนวนหนึ่งที่เป็นบริวารพึ่งพิงขุนนางศักดินา นายทุนไทยเหล่านี้ ทำหน้าที่เป็นนายหน้ารับใช้นายทุนล่าเมืองขึ้นต่างชาตินำสินค้าสำเร็จรูปทางอุตสาหกรรมจากต่างประเทศเข้ามาและส่งออกสินค้าประเภทวัตถุดิบซึ่งเป็นผลิตผลทางเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าของไทย เช่น ข้าว ไม้ และแร่ธาตุ เป็นต้น แทบจะไม่มีนายทุนการผลิตอิสระที่มาจากชาวบ้านธรรมดาเลย