มาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 370 (MH370) เป็นเที่ยวบินโดยสารระหว่างประเทศ เส้นทางการบินจากท่าอากาศยานนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย จุดหมายปลายทางที่ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่ง ประเทศจีน ปฏิบัติการโดยอากาศยานโบอิง 777-200 อีอาร์ ทะเบียน 9M-MRO ได้สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยบริเวณทะเลจีนใต้ ระหว่างน่านน้ำเวียดนามและมาเลเซีย บนเครื่องมีผู้โดยสาร 227 คน และสมาชิกลูกเรือ 12 คน ยังกำหนดชื่อภายใต้ความตกลงใช้รหัสเที่ยวบินร่วมกันว่า ไชนาเซาเทิร์นแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ ซีแซด748
เที่ยวบินดังกล่าวออกจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อเวลา 00.41 น. ตามเวลามาตรฐานมาเลเซีย (UTC+8) ของวันที่ 8 มีนาคม 2557 โดยมีกำหนดบินหกชั่วโมงไปยังกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน รายงานชี้ว่าศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศสุบังเสียการติดต่อกับเครื่องบินเมื่อเวลาประมาณ 1.22 น. ขณะบินอยู่เหนืออ่าวไทย เครื่องได้รับรายงานว่าสูญหายเมื่อเวลา 2.40 น. กว่า 15 ประเทศคือออสเตรเลีย แคนาดา จีน ฝรั่งเศส ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ รัสเซีย ไต้หวัน ยูเครน สหรัฐอเมริกา พยายามค้นหาและกู้ภัยร่วมกัน ครอบคลุมพื้นที่ 27,000 ตารางไมล์ทะเล (93,000 ตารางกิโลเมตร) ในช่องแคบมะละกาและทะเลจีนใต้
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ภายหลังจากถ้อยคำแถลงของ นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เกี่ยวกับความคืบหน้าของภารกิจสืบสวนและค้นหาเครื่องบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ MH370 ที่หายสาบสูญ ข้อมูลสนับสนุนและข้ออธิบายต่างๆ เริ่มถูกนำมาเปิดเผยชี้แจงกับสื่อมวลชน
บริษัท อินมาร์แซท (Inmarsat) ของอังกฤษ ผู้ให้บริการข้อมูลดาวเทียม ได้เปิดเผยว่า ได้มีการจำลองเส้นทางการบินของเครื่องบิน MH370 ที่สูญหายไป โดยการวัดค่าจากปรากฏการณ์ดอบเพลอร์ หรือ ข้อมูลสัญญาณปิงจากเครื่องบินซึ่งส่งกลับไปยังดาวเทียมในแต่ละชั่วโมง ซึ่งมีการเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า เครื่องบินได้เปลี่ยนเส้นทางลงทางซีกโลกใต้ ตำแหน่งสุดท้ายที่ตรวจพบคือนอกน่านน้ำชายฝั่งตะวันตกของออสเตรเลีย และมีความสอดคล้องที่ว่า เชื้อเพลิงของเครื่องบิน MH370 จะต้องหมดลง ขณะกำลังบินอยู่เหนือมหาสมุทรอินเดียตอนใต้
ดาวเทียมอินมาร์แซท ยังได้อธิบายการจำลองเส้นทางการบินของเครื่องบิน MH370 ซึ่งวัดค่าจากปรากฏการณ์ดอบเพลอร์ แม้ว่าระบบสื่อสารของเครื่องบินจะถูกปิดลงไปแล้ว แต่ข้อมูลปิงจะถูกส่งสถานีภาคพื้นดินไปยังดาวเทียม จากนั้นจึงส่งต่อไปยังเครื่องบิน ซึ่งจะส่งข้อมูลปิงกลับไปยังดาวเทียมและสถานีภาคพื้นดินเองโดยอัตโนมัติ แต่ข้อมูลปิงไม่สามารถระบุข้อมูลระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS) หรือตำแหน่งระยะทางและเวลาของเที่ยวบินได้
ซึ่งจากข้อมูลที่จำลองและตรวจสอบได้ทั้งหมดนี้ อินมาร์แซท ได้วิเคราะห์และเปรียบเทียบระยะเวลากับข้อมูลลำอื่นๆ ของมาเลเซีย แอร์ไลน์ ซึ่งมีเส้นทางบินคล้ายกัน ทำให้มีการคาดการณ์ว่า เครื่องบิน MH370 ใช้เส้นทางการบินไปทางซีกโลกใต้ อาจบินต่ออยู่อย่างน้อย 5 ชั่วโมง จนกระทั่งเชื้อเพลิงหมด และตกดิ่งสู่มหาสมุทรอินเดีย ใกล้กับจุดที้มีการตรวจพบวัตถุปริศนากลางทะเลที่รายงานไปแล้วเบื้องต้นอย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวเป็นการวิเคราะห์และสืบสวนผลจากข้อมูลทางการบิน ซึ่งมีหลักฐานสนับสนุนที่มีความเป็นไปได้สูง ซึ่งข้อสันนิษฐานดังกล่าวจะชัดเจนขึ้นก็ต่อเมื่อภารกิจค้นหาเครื่องบิน MH370 ประสบความสำเร็จ ซึ่งขณะนี้ยังคงมีอุปสรรคต่อการค้นหา ส่วนปมประเด็นต่างๆ ที่อาจจะเป็นสาเหตุของการสูญหายครั้งนี้ เช่น การก่อวินาศกรรม การปล้นจี้เครื่องบิน หรือ เหตุขัดข้องทางการบิน