ตุงตัวเปิ้ง คือตุงประปีเกิด เป็นตุงทำด้วยกระดาษ หรือผ้าทอ, พิมพ์หรือเขียนเป็นรูปสัตว์ประจำปีเกิด นิยมปักบนเจดีย์ทรายในเทศกาลสงกรานต์ หรือแขวนบริเวณหน้าพระประธาน
ตุงราว คือตุงขนาดเล็ก มักทำด้วยกระดาษฉลุเป็นลวดลายบนผืนตุง รูปทรงสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยมแบบยาว บางครั้งตัดเป็นรูปคล้ายรูปคน ใช้แขวนเชือกเป็นแนวยาวสลับสีกัน โยงตามเสาของศาลาธรรมหรือปรำพิธี หรือในวิหารที่มีพิธีกรรมทางศาสนา
ตุงตะขาบ ตุงจระเข้ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีรูปตะขาบหรือจระเข้ อยู่บนผืนตุงใช้ในงานทอดกฐิน
ตุงดอกบ้อง หรือตุงไส้หมู เป็นตุงที่มีรูปร่างทรงจอมแห ทำจากกระดาษสีต่างผูกติดกับกิ่งไม้ หรือก้านไม้ไผ่เล็ก ๆ ตุงนี้ใช้ในเทศกาลสงกรานต์โดยปักบนกองเจดีย์ทราย หรือประดับเครื่องไทยทานต่าง ๆ
ตุงค่าคิง เป็นตุงที่มีรูปร่างยาวแคบ ความยาวเท่ากับความสูงองผู้ทำพิธี ผืนตุงทำด้วยกระดาษสีขาว อาจตกแต่งลวดลายด้วยกระดาษเงิน กระดาษทอง ตุงค่าคิงที่ใช้ในงานขึ้นบ้านใหม่ที่มีพิธีสืบชาตาพิธีสะเดาะเคราะห์ หรือปักบูชากองเจดีย์ทราย
ตุงพระบด,พระบฏ,พระบฎ เป็นตุงทที่มีลักษณะเป็นผือผ้าใบหรือกระดาษสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีขนาดต่าง ๆ ส่วนมากประมาณ 80 คูณ 100 เซนติเมตร กรอบทั้งสี่ด้านทำด้วยไม้ทำให้ตึง ตุงพระบฎจะเป็นรูปพระพุทธรูปประทับยืน ปางลีลา หรือบางเปิดโลก ลักษณะของการใช้งาน ตุงพระบฎใช้ประดับไว้ด้านหลังของพระประธานในโบสถ์ นอกจากจะใช้ประดับสองข้างพระประธานแล้ว บางแห่งใช้กับพิธีกรรมความเชื่ออีกด้วย เช่น ตุงพระบฏ ที่ใช้ในพิธีเลี้ยงผีปู่แวะย่าแสะที่บ้านแม่เหียะ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่