อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์มีหลากหลาย... ชอบ ไม่ชอบ อารมณ์ดี เกลียด โมโห ไม่พอใจ และอีกมากมายสารพัด เชื่อว่าหลายๆคน ผ่านความรู้สึกเหล่านี้มาแล้วทั้งนั้น แต่อีกหนึ่งความรู้สึกที่ขาดไม่ได้และไม่มีใครอยากขาดด้วยนั่นก็คือ ความรักหรือความรู้สึกรักนั่นเอง
แล้วเพื่อนๆ เคยสงสัยกันบ้างมั้ยว่า ความรักมันเกิดขึ้นได้ยังไง? บางคนบอกว่าเพราะความใกล้ชิด บางคนบอกเพราะคุยกันถูกคอ (พูดไปแล้วก็อมยิ้มไปเป็นแถบๆ) ที่พูดมานี้ก็มีเหตุผลค่ะ แต่เป็นแค่การบอกเหตุผลที่ทำให้ความรักเกิดขึ้นมากกว่า ไม่ใช่การอธิบายว่าความรู้สึกรักเกิดขึ้นได้ยังไง เอาล่ะ! เกริ่นกันมาขนาดนี้แล้ว
นักวิทยาศาสตร์หลายคนพยายามค้นหาคำอธิบายเกี่ยวกับความรัก แต่ผลงานการคิดค้นที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดก็คือ ของศาสตราจารย์เฮเลน ฟิชเชอร์ เขาได้แบ่งความรักออกเป็น 3 ระดับ คือ หลง รัก และผูกพัน โดยก่อนที่จะเริ่มเกิดความรู้สึกรัก จะมีสารเคมีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ฟีโรโมน (Pheromones) เป็นตัวนำพาให้เราเกิดความรักค่ะ
หลังจากผ่านช่วงที่สารเคมีทำงานดึงดูดให้คนสองคนเกิดความรักกันแล้ว ก็เข้าสู่ช่วง "หลง" มั่นใจว่าเป็นช่วงที่มีความสุขสุดๆ ความรู้สึกของคนสองคนในช่วงนี้ร่างกายจะถูกขับเคลื่อนด้วยเคมี ทำให้รู้สึกเขินเวลามองตากัน หรือได้เจอกันแล้วตื่นเต้น หัวใจเต้นแรงเหมือนจะหลุดออกมาเต้นข้างนอก เรียกว่าทุกอย่างที่เกิดในช่วงนี้อะไรก็ดูสีชมพูไปหมด ถึงขั้นเก็บไปนอนฝันกันเลยทีเดียว สำหรับช่วงหลงนี้จะมีฮอร์โมนที่สำคัญอยู่ 2 ชนิดคือ เอสโตรเจน (Estrogen) ฮอร์โมนเด่นในเพศหญิง และเทสโทสเตอโรน (testosterone) ฮอร์โมนเด่นในเพศชาย
ต่อมาเป็นช่วงรัก ช่วงรักเป็นอีกช่วงที่ชีวิตเราจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่ระบบในร่างกายเปลี่ยนไปนะคะ แต่หมายถึงการใช้ชีวิต เพราะความรักที่เข้าสู่ช่วงนี้แล้วทำให้หลายคนเริ่มมีอาการเพ้อ วันๆ เอาแต่คิดถึงตามประสาคนมีความรัก อาการที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ถูกควบคุมจากกลุ่มสารสื่อประสาที่เรียกว่า โมโนอะมิเนส (Monoamines) ซึ่งจะประกอบไปด้วยฮอร์โมน 3 ชนิด คือ ฮอร์โมนโดพามีน (Dopamine) ทำให้สมองตื่นตัว, ฮอร์โมนเอพิเนฟรีน (Norepinephrine) หรือ อะดรีนาลิน (Adrenalin) ฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายตื่นตัว หัวใจเต้นแรง และสุดท้าย ฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) เป็นสารที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการแสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึก มีความสำคัญมากๆ เพราะควบคุมทั้งร่างกายและจิตใจของเรา ดังนั้นความรักที่มีทั้งรัก ทั้งซึ้ง ทั้งเหงารวมอยู่ด้วยกันก็เกิดจากสารเซโรโทนินนี่แหละจ้า
สุดท้ายคือช่วงผูกพัน คนสองคนต้องข้ามผ่านทั้งความรักและความหลงมาแล้ว หากคู่ไหนยังรักกันดีไม่พ่ายแพ้ให้กับช่วงโปรโมชั่นไปเสียก่อน ก็อาจเรียกได้ว่ามีความรักให้กันจริงๆ จนถึงขั้นพร้อมที่จะใช้ชีวิตคู่ค่ะ ในช่วงนี้จะมีฮอร์โมนสำคัญ คือ ออกซีโทซิน (Oxytocin) เป็นฮอร์โมนที่หลั่งมาจากต่อมใต้สมองส่วนหลัง ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นฮอร์โมนแห่งความรัก-ความเชื่อใจ และยังมีประโยชน์ในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารกอีกด้วย เพราะสารนี้จะหลั่งออกมากระตุ้นให้มดลูกบีบตัวเพื่อให้แม่มีแรงเบ่งคลอด และกระตุ้นให้แม่สร้างน้ำนมให้เพียงพอต่อการให้นมลูกหลังคลอดด้วยนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีฮอร์โมนวาโซเพรนซิน (Vasopression) ที่จะช่วยย้ำในเรื่องของการรักเดียวใจเดียวค่ะ