การทำไม้กวาดตองกงเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนของอำเภอลับแล ซึ่งได้รับถ่ายทอดวิธีการทำไม้กวาดมาจากบรรพบุรุษที่ทำกันมานาน มีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันว่า เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสภาคเหนือและได้เสด็จมาถึงเมืองบางโพหรือท่าเหนือ (เมืองอุตรดิตถ์) ในขบวนเสด็จนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้นำไม้กวาดจากเมืองจีนมาให้พระศรีพนมมาศ ซึ่งขณะนั้นอำเภอลับแลเป็นเมืองขนาดเล็กที่กำลังพัฒนาโดยมีนายทองอิน (พระศรีพนมมาศ) เป็นผู้นำของท้องถิ่น เมื่อพระศรีพนมมาศนำไม้กวาดที่ได้รับฝากจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมาพิจารณาดูลวดลายและวิธีการถักแล้วคิดว่าต้องทำได้ เพราะที่ลับแลมีต้นตองกงอยู่เป็นจำนวนมาก จึงนำชาวบ้านของแต่ละหมู่บ้านจำนวน 2 คน มาฝึกการถักไม้กวาดตองกงที่บริเวณบ้านศรีพนมมาศโดยเริ่มจากคนในหมู่บ้านตำบลฝายหลวงและตำบลแม่พูล เมื่อถักไม้กวาดกันเป็นแล้วก็ให้กลับไปสอนลูกหลานในบ้านนั้น ๆ อีกจนเกิดความชำนาญและมีคุณภาพดีขึ้น
พระศรีพนมมาศสนับสนุนให้ทำไม้กวาดตองกงโดยท่านเป็นผู้รับซื้อเองและนำไปฝากพรรคพวกเพื่อนฝูงต่างเมือง บางคนเห็นว่าเห็นว่าไม้กวาดเป็นของต่ำ ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้เคล็ดและให้เกิดศิริมงคล จึงนำผ้าสีแดงตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ มาสอดเข้าที่ปลายของไม้กวาด ผู้ใดได้รับไม้กวาดไปก็จะมีโชค มีลาภ และเป็นสิริมงคล ไม้กวาดตองกงของอำเภอลับแลจึงมีผ้าสีแดงติดส่วนปลายจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของไม้กวาดเมืองลับแล