ประเพณีหลวง เรียกเป็นทางการว่า "การพระราชกุศลหล่อเทียนพรรษา" ประเพณีนี้พระมหากษัตริย์ทรงหล่อเทียนพรรษาด้วยพระองค์เอง และเสด็จพระราชดำเนินทรงจุดบูชาพระรัตนตรัยเฉพาะพระอารามหลวงที่สำคัญ นอกนั้นทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ผู้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์
ประเพณีราษฎร เรียกกันว่า "เทียนจำนำพรรษา" หรือ "เทียนพรรษา" ประเพณีนี้ประชาชนเป็นผู้หล่อเทียนจำนำพรรษา ปัจจุบันเทียนพรรษามี 2 ชนิด คือ เทียนพรรษาแบบจุดได้ กันเทียนพรรษาแบบจุดไม่ได้ เทียนพรรษาแบบจุดไม่ได้นี้จะไม่มีไส้ มีแต่ไม้หรือเหล็กกันเทียนหัก เพราะทำขึ้นมาเพื่อประกวด หรือถวายเป็นพุทธบูชาเท่านั้น
ประเพณีการแห่เทียนจำนำพรรษานี้ เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติทั่วไปในประเทศไทย แต่ที่ทำกันเป็นประเพณีใหญ่โตที่สุด คือ จังหวัดอุบลราชธานี มีการแกะสลักต้นเทียนอย่างสวยงามและจัดประกวดแข่งขันก่อนแก่ไปถวายตามวัดต่างๆ
การแห่เทียน เป็นประเพณีที่แสดงถึงความศรัทธา ความสามัคคีของชุมชนและเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ธำรงอยู่ต่อไป แม้ว่าปัจจุบันจะมีการปรับเปลี่ยนเป็นการซื้อเทียนพรรษาสำเร็จรูป มีไฟนีออนหรือหลอดฟลูออเรสเซนต์ถวายแทน แต่ถ้าทุกคนช่วยกันสืบสานประเพณีอันดีงามนี้ไว้ ประเพณีการหล่อเทียนและแห่เทียนจำนำพรรษาก็จะเป็นประเพณีอยู่คู่ประเทศไทยต่อไป