การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อผู้บริหารในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ได้ตระหนักและใช้จากข้อมูลการวิจัยในการบริหารเงินทุนหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาความสามารถในการทำกำไรให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ตลอดจนนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจลงทุนและคาดการณ์ผลการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต โดยการศึกษาได้ใช้ข้อมูลอนุกรมเวลาตัดขวางตามเวลา Panel data ในช่วงปี พ.ศ. 2544-2558 ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร 5 บริษัท และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร 21 บริษัท รวมทั้งสิ้น 26 บริษัท คิดเป็นจำนวนข้อมูลทั้งหมด 390 ชุดข้อมูล
จากผลการศึกษา สามารถสรุปได้ว่าแนวทางที่มีส่วนในการเพิ่มความสามารถในการทำกำไร คือ (1) การเพิ่มระยะเวลาของวงจรเงินสด โดยธุรกิจจะต้องมีเงินทุนหมุนเวียนอยู่กับกิจการนานขึ้น เพื่อกิจการจะได้มีเงินทุนหมุนเวียนในการสร้างประโยชน์ในการทำกำไรได้จากกระแสเงินสด (2) การลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียนให้มากขึ้น เพื่อสินทรัพย์หมุนเวียนสามารถให้ผลตอบแทนอื่น นอกเหนือผลกำไรจากดำเนินงานปกติ (3) การลดหนี้สินหมุนเวียนให้น้อยลง เพราะส่งผลต่อสภาพคล่องของกิจการ และความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงด้วย และ (4) การเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น เพื่อก่อให้เกิดกิจกรรมการดำเนินงานทุกประเภทอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นการใช้สินทรัพย์หมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพด้วย
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบความสัมพันธ์ในช่วงเวลาของเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน สามารถสรุปได้ว่า ช่วงเศรษฐกิจหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ วงจรเงินสด และหนี้สินหมุนเวียนต่อสินทรัพย์รวม มีความสัมพันธ์กับความสามารถในการทำกำไรมากกว่าช่วงเศรษฐกิจก่อนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ แต่อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนสินทรัพย์หมุนเวียนต่อสินทรัพย์รวม และอัตราส่วนยอดขายต่อสินทรัพย์หมุนเวียน พบมีความสัมพันธ์กับความสามารถในการทำกำไรในก่อนเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์มากกว่าช่วงเศรษฐกิจหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งสามารถอธิบายได้เศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อการบริหารเงินทุนหมุนเวียนที่มีต่อความสามารถในการทำกำไรที่แตกต่างกันด้วย