- ใช้การโกหกเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ เช่น ไม่อยากทำตามกฎของบ้านที่พ่อแม่ตั้งไว้ว่า ต้องทำการบ้านเสร็จก่อนจึงจะไปเล่นได้ ก็เลยโกหกว่าทำการบ้านเสร็จแล้ว
- ยังแยกแยะเรื่องจริงกับเรื่องในจินตนาการไม่ได้ ซึ่งมักเกิดกับเด็กวัย 2-3 ขวบ
- ใช้การโกหกเพื่อปกปิดความผิดของตัวเอง ดังเช่นในคลิปที่เด็กแอบกินขนมแต่ถูกจับได้ เลยโกหก
- ใช้เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้ใหญ่
- ต้องการทดลองว่า ผู้ใหญ่จะทราบไหมว่าเขาโกหก
โกหกแก้ได้ในระยะสั้น
หากพบว่าลูกๆ หลานๆ ในบ้านโกหก สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือ การโมโห ตวาด หรือแผดเสียงดังลั่นให้เด็กกลัวพร้อมเฉลยว่า คุณรู้ทันพวกเขา และต่อด้วยการ "ลงโทษ" ผู้ใหญ่ท่านใดทำเช่นนั้น โอกาสหน้า ลูกๆ หลานๆ ในบ้านก็จะโกหกอีกค่ะ และจะเป็นเช่นนี้เรื่อยไปจนติดนิสัยแน่นอน ขณะที่หนทางในการช่วยเด็ก ลด ละ เลิกการโกหกได้นั้น อาจเริ่มต้นจากสิ่งง่ายๆ เช่น
- การกอด แม้ผู้ใหญ่ส่วนมากจะโมโหที่รู้ว่าเด็กโกหก แต่นั่นเป็นเพราะเด็กมีบางสิ่งบางอย่างในใจจนทำให้เขาไม่กล้าพูดความจริงออกมา ถ้าเรายิ่งลงโทษก็เท่ากับยิ่งผลักไสเด็กให้ห่างออกไป ถ้าทำได้ ลองระงับความโกรธไว้ก่อน แล้วดึงเด็กมากอดแน่นๆ เขาอาจขัดขืนบ้างในตอนแรกหากมีทัศนคติที่ไม่ดีกับผู้เลี้ยงดู แต่อย่างน้อยเขาก็ได้รับความอบอุ่นกลับไปบ้าง ซึ่งจะช่วยได้ในระยะยาวค่ะ
- ลูบหัว และการพูดด้วยถ้อยคำดี ๆ เพราะการบอกเด็กว่า คุณรู้ทันที่พวกเขาโกหก ไม่จำเป็นต้องทำเพราะอารมณ์โกรธเพียงอย่างเดียว ทำด้วยความเมตตากรุณาก็ได้เช่นกัน และเชื่อเถอะค่ะว่าการทำด้วยความเมตตาได้ผลดีกว่าแน่ๆ
- นั่งคุยกัน เด็กที่เจอความอ่อนโยนตอบกลับมา ทั้งโดนกอด โดนลูบหัว และมีคนมาพูดดีๆ ด้วย เขาจะนิ่งมากขึ้น และเปิดใจมากขึ้นที่จะคุยกับคุณ ลองค่อยๆ ถามเขาว่า เกิดอะไรขึ้น หากได้คำตอบที่ไม่พอใจ ขอให้อดทน อย่าแสดงความผิดหวัง เหนื่อยหน่าย ออกไป เพราะเด็กจะรับรู้ได้ และอาจไม่ยอมเปิดใจกับคุณอีก
- ช่วยกันแก้ปัญหา จากเรื่องราวที่เด็กเล่าออกมา อย่าเพิ่งไปตั้งคำถามว่า จริงหรือเปล่า ลองช่วยกันแก้ปัญหาว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง และพยายามให้ทุกอย่างจบลงด้วยดี คุณก็สบายใจ เด็กก็สบายใจ และอย่าลืมบอกให้เขามั่นใจอีกว่า โอกาสหน้าคุณก็จะรับฟังเขาเหมือนเดิม