สรภัญญ์ (สะ-ระ-พัน หรือ สอ-ระ-พัน) หรือ สารภัญญะ (สา-ระ-พัน-ยะ) หรือ สรภัญญะ (สอ-ระ-พัน-ยะ) สามารถออกเสียงได้ทั้งสี่แบบ และถือว่าถูกต้องตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่น เป็นบทสวดประเภทหนึ่งที่อุบาสกและอุบาสิกาในภาคอีสานนิยมสวดกันในวันอุโบสถศีล (วันพระ) หรือบางครั้งก็นำมาสวดประชันกันว่าคณะสวดหมู่บ้านใดจะสวดได้ไพเราะ และบทสวดใครจะมีคารมคมคายกว่ากัน การสวดสรภัญญ์นี้ภาษาถิ่นอีสานเรียกว่า ฮ้องสรภัญญ์
สรภัญญ์ เป็นการสวดมนต์ในทำนองสังโยค คือ การสวด เป็นจังหวะหยุดตามรูปประโยคฉันทลักษณ์ บทสวดจะมีลักษณะเป็นฉันท์หรือกาพย์ก็ได้ แต่ที่นิยมกันมากคือ กาพย์ยานี สำหรับเนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับศาสนา บาปบุญคุณโทษ นิทานชาดก นอกจากนั้น ก็ยังมีการแต่งกลอนเน้นไปทางศิลปวัฒนธรรม เช่น กลอนถามข่าว โอภาปราศัย ชักชวนให้ไปเยี่ยม การลา หรือไม่ก็อาจจะเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นของอีสาน อาทิ เรื่องกล่องข้าวน้อยฆ่าแม่ เป็นต้น บทสวดสรภัญญ์มักไม่เน้นในเรื่องความรักหรือการเกี้ยวพาราสีของคนทั่วไป เพราะการสวดสรภัญญ์นั้นเกี่ยวข้องกับทางศาสนา และผู้ฝึกสอนเป็นพระภิกษุ จึงไม่ให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก แต่อาจจะมีบางเรื่องเช่น ตอนนางยโสธราพิมพาอาลัยอาวรณ์เจ้าชายสิทธัตถะที่หนีออกบวช ที่แสดงความรัก
สำหรับการสวดสรภัญญ์ในเมืองไทยนั้นมีการสวดมานานแล้ว ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่การสวดในยุคนั้นนิยมสวดเป็นภาษาบาลี และมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาโดยตรง ไม่มีเรื่องแต่งใหม่เป็นคำไทย ผู้ที่สวดจึงมักเป็นพระสงฆ์ และอุบาสกอุบาสิกาที่อ่านภาษาบาลีได้คล่องแคล่ว เมื่อการสวดสรภัญญ์ได้รับความนิยมมากขึ้น ปราชญ์ทางพุทธศาสนาจึงได้แต่งคำสวดเป็นภาษาไทย ให้อุบาสกอุบาสิกาและแม่ชีใช้สวดในวัด เช่น สวดทำวัตร เนื้อหาก็จะได้จากกระทู้ธรรมในพุทธศาสนสุภาษิต และธรรมบท
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่สามารถสืบทราบได้ว่ามีการสวดสรภัญญ์ตั้งแต่เมื่อใด
ปัจจุบันการสวดสรภัญญ์ของพี่น้องชาวภาคอีสานนั้น นิยมสวดกันในงานศพ งานทอดผ้าป่า งานกฐิน งานทอดเทียน งานกวนข้าวทิพย์ และในกิจกรรมวันธรรมสวนะ (วันพระ) ส่วนภาคกลางนั้นนิยมร้องในงานศพ เช่นเดียวกับการสวดพระอภิธรรม
การสวดสรภัญญ์ของภาคอีสานนี้ เทียบกับ ภาคกลาง ก็คือ สวดโอ้เอ้วิหารราย ส่วน ภาคเหนือ จะเรียกการสวดแบบนี้ว่า อื่อระนำ จ๊อยทำนองธรรม และ ภาคใต้ เรียก สวดค้าน จุดมุ่งหมายของการสวดไม่ว่าจะของภูมิภาคใดก็ล้วนมีจุดประสงค์เดียวกันคือ การเผยแพร่ธรรมะ ดังนั้น เนื้อหาที่ใช้สวดจึงมักให้คติธรรม เช่น เรื่องเวสสันดรชาดก และชาดกต่างๆ
การสวดสรภัญญ์มีรูปแบบการสวด ตามลำดับการขับสรภัญญ์เป็นกลุ่มของกลอนดังนี้
๑. กลอนเตรียมตัว จะกล่าวถึงการเตรียมตัวกราบไหว้พระรัตนตรัย เนื่องจากธรรมเนียมของชาวพุทธก่อนจะทำสิ่งใดจะต้องไหว้พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ก่อนเป็นอันดับแรก กลอนนี้จึงเสมือนกลอนนมัสการหรือไหว้ครูนั่นเอง
๒. กลอนบูชาดอกไม้ กลอนบทนี้แสดงให้เห็นถึงการบูชาดอกไม้ที่ทุกคนเตรียมมาและถืออยู่ในมือแล้ว หรือบางทีก็วางไว้ที่ขันกะหย่องตอนกราบพระครั้งแรก การบูชาด้วยดอกไม้ของหอมถือว่าเป็นอามิสบูชา เป็นการบูชาเบื้องต้นที่ศาสนิกชนควรจะทำ
๓. กลอนไหว้คุณครูบาอาจารย์ นอกจากไหว้พระรัตนตรัยแล้ว สิ่งที่ควรรำลึกต่อไปก็คือ ครูอาจารย์
๔. กลอนเดินทาง เป็นกลอนพรรณนาการเดินทางมาร้องสรภัญญ์ กลอนนี้เป็นการสะท้อนภาพชนบท ที่นักร้องสรภัญญ์ได้เดินทางจากบ้านของตนเองบุกป่าฝ่าดงมายังสถานที่ร้องสรภัญญ์
๕. กลอนปัญญาน้อย เป็นกลอนแสดงการถ่อมตนไม่โอ้อวด ให้เกียรติผู้อื่น
๖. กลอนให้รักษาศีล เป็นการเริ่มกลอนที่เป็นเนื้อหาสาระของจริยธรรม คือว่าด้วยเรื่องทาน ศีล ภาวนา
๗. กลอนพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ เป็นกลอนที่กล่าวถึงเนื้อหาของพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ว่ามีอยู่กี่ประการ
๘. กลอนสังขารไม่เที่ยง เป็นกลอนที่กล่าวถึงสภาวธรรม คือความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสังขาร เพื่อเตือนนิกรชนให้สำนึกอย่าประมาท
๙. กลอนนรก-สวรรค์ เป็นกลอนที่ว่าด้วยนรก ซึ่งเป็นปลายทางของคนบาป และสวรรค์ซึ่งเป็นอานิสงส์ของคนบุญ
๑๐. กลอนคุณบิดาคุณมารดา เป็นกลอนที่เสริมด้านคุณธรรม เป็นการแสดงคุณบิดามารดา และชี้นำให้รู้จักบุญคุณของผู้มีพระคุณ ที่เรียกว่า กตัญญูกตเวที
๑๑. กลอนลาและอวยพร เป็นกลอนส่งท้าย ผู้ร้องสรภัญญ์จะบอกลาพระสงฆ์และผู้ฟังทุกคน แล้วอวยพรให้มีความสุข อยู่ดี มีแฮง (มีแรง)
คุณประโยชน์ของการสวดสรภัญญ์ นอกจากจะทำให้ผู้ที่สวดได้เข้ามาใกล้ชิดพระศาสนาตั้งแต่วัยเยาว์แล้ว ในบทสวดยังเป็นบทกลอนที่เป็นประโยชน์ เช่น กลอนบูชาครู กลอนบูชาดอกไม้ กลอนศีล กลอนพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ กลอนบูชาคุณบิดร มารดา ซึ่งล้วนแต่บ่งบอกถึงการรู้คุณ กตัญญู รู้จักการขออภัย ให้อภัย รู้จักความดีความชั่ว ซึ่งเป็นยอดแห่งมนุษยจริยธรรมทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีการนำเอาวรรณคดีท้องถิ่นของภาคอีสานมาแต่งเป็นกลอน จึงทำให้ผู้ฟังได้รู้เรื่องนิทานพื้นบ้านต่างๆ ซึ่งเป็นนิทานที่มีคติสอนใจ จึงเป็นการสืบสานไม่ให้นิทานพื้นบ้านต้องสูญหายไปกับกาลเวลา
ในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งที่ชาวอีสานได้ร่วมใจกันสืบสานการสวดสรภัญญ์ให้คงอยู่ ด้วยการสวดในกิจกรรมวันธรรมสวนะและงานบุญต่างๆ รวมไปถึงได้จัดให้มีการประกวดสวดสรภัญญ์กันอยู่เสมอ มีการแข่งขันตั้งแต่ระดับตำบลจนถึงระดับภาค นอกจากนั้นแล้ว ยังได้ถ่ายทอดให้กับเยาวชนโดยการบรรจุอยู่ในเรียนการสอนวิชาวรรณกรรมท้องถิ่นในโรงเรียนต่างๆ ของภาคอีสานอีกด้วย จึงเชื่อได้ว่าการสวดสรภัญญ์อันเป็นอีกหนึ่งในมรดกวัฒนธรรมนี้จะยังคงอยู่คู่กับชาวอีสานต่อไป ตราบนานเท่านาน