การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเคลื่อนย้าย วิธีปฏิบัติ โครงสร้างต้นทุนในแต่ละกิจกรรมของห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ของมะม่วงส่งออก ปัญหาต่างๆ รวมถึงอุปสงค์ของตลาดต่างประเทศ โดยเปรียบเทียบระหว่างการส่งออกไปยุโรป กรณีศึกษาประเทศเยอรมนี กับประเทศสมาชิกอาเซียน กรณีศึกษาประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ จากการศึกษาพบว่า การเคลื่อนย้ายมะม่วงไปประเทศทั้ง 2 กรณีศึกษา มีการเคลื่อนย้ายจากเกษตรกรไปกลุ่มเกษตรกร จากกลุ่มเกษตรกรไปยังผู้ส่งออก และจากผู้ส่งออกไปยังผู้นำเข้า โดยมีวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันตั้งแต่ มะม่วงที่ส่งออกไปมาเลเซีย-สิงคโปร์จะเก็บเกี่ยวที่ระดับความแก่ 85-95% ส่วนมะม่วงที่ส่งออกไปเยอรมนีระดับความแก่ 85-90% การคัดเกรดมะม่วงที่ส่งออกไปเยอรมนีเน้นมะม่วงที่มีรูปทรงปกติ ผิวสวย ไม่มีตำหนิ ขนาดผลปานกลาง-ใหญ่ ส่วนมะม่วงที่ตกเกรด (รูปทรงผิดปกติ ผิวมีตำหนิ) จะส่งออกไปมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยมะม่วงที่ส่งออกไปสิงคโปร์จะมีคุณภาพดีกว่ามาเลเซีย ทั้งนี้มะม่วงที่จะส่งออกไปเยอรมนีต้องมีการปรับปรุงคุณภาพก่อนการส่งออก ส่วนมะม่วงที่ส่งออกไปมาเลเซียและสิงคโปร์ไม่ต้องปรับปรุงคุณภาพ ส่วนการบรรจุมะม่วงเพื่อส่งออกไปเยอรมนี มะม่วงแต่ละผลต้องสวมเน็ตโฟมก่อนบรรจุลงกล่องกระดาษที่มีความแข็งแรง แล้วขนส่งทางเครื่องบิน ในขณะที่มะม่วงที่ส่งออกไปมาเลเซียและสิงคโปร์จะบรรจุลงในตะกร้าพลาสติกสี่เหลี่ยมที่บุด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ แล้วใช้รถบรรทุกเพื่อขนส่งไปมาเลเซีย และใช้รถตู้เย็นคอนเทนเนอร์ เพื่อขนส่งไปสิงคโปร์ เมื่อศึกษาโครงสร้างต้นทุนการส่งออกมะม่วงพบว่า ต้นทุนโลจิสติกส์ในการส่งออกมะม่วงไปเยอรมนี (130-180 บาทต่อกิโลกรัม) สูงกว่ามาเลเซียและสิงคโปร์ (15-22 บาทต่อกิโลกรัม) ส่วนการศึกษาอุปสงค์พบว่า มาเลเซียมีมะม่วงไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ส่วนสิงคโปร์ก็ไม่สามารถปลูกมะม่วงได้เอง เนื่องจากมีพื้นที่ในการเพาะปลูกน้อยและมีการส่งออกต่อไปยังประเทศอื่นๆ (re-export) ในขณะที่มะม่วงไทยในตลาดเยอรมนียังเป็นที่นิยมของผู้บริโภค และมีแนวโน้มที่ตลาดเยอรมนีต้องการบริโภคผลไม้แบบพร้อมรับประทาน (Ready to eat) เพิ่มมากขึ้น ส่วนปัญหาที่พบในห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ของมะม่วงส่งออก เช่น การบันทึกข้อมูลเพื่อวางแผนและคาดการณ์ผลผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพผลผลิต การเข้ามารับซื้อผลผลิตของพ่อค้าต่างชาติ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ การให้ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้อง และการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย เป็นต้น ซึ่งการแก้ไขปัญหาต่างๆ นี้ต้องมีการร่วมมือกันแก้ไขจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง