การจัดการด้านกายภาพของดินทรายจัด
ดินทรายจัด เป็นดินที่มีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ ไม่มีการจับตัวกันเป็นเม็ดดิน ทำให้ดินไม่มีโครงสร้าง จึงต้องเพิ่มการกักเก็บน้ำหรือการอุ้มน้ำของดินทรายจัด ซึ่งสามารถทำได้โดยการเพิ่มอินทรียวัตถุลงไปในดินด้วยวิธีการต่างๆ เพราะการใส่อินทรียวัตถุช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น มีผลให้อนุภาคดินเกาะตัว การระบายอากาศของดินเพิ่มมาก ขึ้นให้ระบบรากของพืชสามารถแผ่กระจายในดินได้อย่างกว้างขวาง ส่งผลให้รากสามารถดูดธาตุอาหารได้มากขึ้น นอกจาก นี้อินทรียวัตถุยังช่วยในด้านการซึมผ่านของน้ำ และความสามารถในการอุ้มน้ำของดิน ทำให้ดินมีความชุ่มชื้นได้ยาวนานกว่าใน ดินที่มีโครงสร้างไม่ดี ลักษณะดังกล่าวจะมีผลทางอ้อมต่อการช่วยควบคุมการเกิดชะล้างพังทลายของหน้าดิน
การใช้ปุ๋ยคอกเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน
มูลวัวและมูลควาย โดยทั่วไปแล้วมีธาตุอาหารต่ำกว่ามูลสัตว์ชนิดอื่นเพราะเป็นสัตว์กินหญ้า ไม่ควรใส่ แปลงปลูกผักโดยตรง เพราะจะมีปัญหาเมล็ดวัชพืชปะปนมา ควรนำไปหมักเป็นปุ๋ยหมักเสียก่อน หรือนำไปผลิตก๊าซชีวภาพ แล้วนำกากที่เหลือไปใช้จะได้ประโยชน์มากกว่า มูลแห้งเหมาะสำหรับใส่แบบหว่าน ในสวนไม้ผล หรือรองก้นหลุมปลูกพืช
การใช้ประโยชน์จากมูลสัตว์เป็นปุ๋ยกับพืชชนิดต่าง ๆ
1) มูลสัตว์แห้งใส่ลงในดินหรือแปลงปลูกพืชโดยตรง
2) มูลสัตว์แห้งหมักกับเศษพืชต่าง ๆ และอาหารเสริมเติมสารเร่ง พด. หรือจุลินทรีย์อีเอ็ม ใส่ลงในดิน หรือแปลงปลูกพืช
3) ทำน้ำสกัดมูลสัตว์ โดยใช้มูลสัตว์ผสมน้ำอัตราส่วน 1 ต่อ 10 แช่ไว้ 24 ชั่วโมง นำน้ำสกัดส่วนใส่ไปเจือ จางด้วยน้ำใช้รดรอบ ๆต้น
4) นำน้ำสกัดมูลสัตว์ส่วนใสเจือจางด้วยน้ำ 1 ต่อ 10 ถึง 1 ต่อ 20 แล้วฉีดพ่นให้ทางใบแก่ต้นพืช
5) น้ำล้างคอก น้ำทิ้งจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์รวบรวมไว้ในบ่อพัก ใช้เครื่องดูดขึ้นไปเจือจางกับน้ำตามความ
เหมาะสมแล้วฉีดพ่นในแปลงปลูกพืช
ข้อดี คือ เป็นวัสดุอินทรีย์ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น มีราคาถูก แต่การนำเอาปุ๋ยคอกไปใส่ให้กับต้นพืชโดยตรงอาจเป็นอันตรายแก่พืชได้ เนื่องจากความร้อนที่เกิดขึ้นจากการหมักในดินและแรงดันออสโมติก เนื่องมาจากความเข้มของแร่ธาตุทำให้ต้นพืชสูญเสียน้ำทางราก และเหี่ยวเฉาตายในที่สุด ดังนั้นควรนำปุ๋ยคอกมาหมักให้เกิดการย่อยสลาย และไม่มีความร้อนหลงเหลืออยู่ นอกจากนี้ระหว่างการหมักปุ๋ยคอกความร้อนที่เกิดขึ้นสูงถึง 70 องศาเซลเซียสจะช่วยกำจัดจุลินทรีย์ก่อโรคที่ติดมากับมูลสัตว์ได้อีกด้วย จึงเป็นการลดความเสี่ยงการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในผลิตผลการเกษตร โดยเฉพาะพวกผักสดต่างๆ ซึ่งมักประสบปัญหาเมื่อส่งออกแล้วตรวจพบเชื้อก่อโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ทำให้ต่างประเทศลดความน่าเชื่อถือ การใช้ปุ๋ยคอกและอินทรียวัตถุเพื่อปรับปรุงโครงสร้างดินอาจใช้ได้ตั้งแต่ 1 – 3 ตันต่อไร่ต่อครั้ง