ประวัติ วัดเกาะวาลุการาม
ตามทางภูมิศาสตร์ได้กล่าวว่า เกาะ คือแผ่นดินส่วนใดส่วนหนึ่งผืนแผ่นดินส่วนนั้นมีน้ำล้อมรอบ เรียกว่าเกาะประมาณ 40-50 ปี ย้อนหลังขึ้นไป ลำแม่น้ำวัง เมื่อไหลผ่านสะพานรัษฎาภิเษกลงไปประมาณ 250 เมตร ก็จะแยกออกจากกัน เป็นสองแถว ที่แยกจากกันนั้นเกิดเป็นเกาะกลางขึ้นเกาะหนึ่ง แควทั้งสองข้างเกาะ จะมีน้ำไหลมากพอให้เรือเดินขึ้นล่องได้สะดวก น้ำที่ไหลแตกแยกจากกัน จะไปบรรจบเป็นแควเดียวกันอีก จากหัวเกาะถึงท้ายเกาะยาวประมาณ 200 เมตร ตอนที่กว้างที่สุดของเกาะ ประมาณ 50 เมตร
เกาะแห่งนี้แต่โบราณกาลประมาณไม่ได้ว่าจะเป็นกี่ปีมาแล้ว นัยว่าเป็นสถานที่เจ้าหญิงองค์หนึ่ง แห่งลานนามาประทับอยู่หรือทำพิธีอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง (ผู้เขียนไม่กล้ายืนยัน) เมื่อหมดสมัย หรือหมดความต้องการของใคร ๆ แล้ว ก็คงจะทิ้งอยู่เป็นเกาะป่าละเมาะร้างว่างเปล่าอยู่ดังนั้นตลอดมา พอจะประมาณได้ว่า ราว 90-100 ปีมานี้ก็มีประชาชนข้ามไปจับจอง แผ้วถางถือกรรมสิทธิ์ปลูกบ้านอยู่อาศัย เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ ทำสวนปลูกผักเป็นตอน ๆ การจะข้ามไปมาสู่เกาะนี้ จากฝั่งซ้ายทิศเหนือและฝั่งขวาทิศใต้จะต้องใช้เรือหรือทำสะพานไม้ไผ่ขัดแตะชั่วคราว มีตอนปิดเปิดตรงร่องน้ำให้เรือแพผ่านไปมาได้ สะพานนี้จะทำใช้ได้เฉพาะฤดูแล้งน้ำลดเท่านั้น แม้จะเป็นฤดูแล้งน้ำแห้งมากแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าสมัยนั้นมีน้ำมากไหลเอ่ออยู่ตลอดเวลาด้านซ้ายและขวาของเกาะก็มีน้ำไหล เรือแพขึ้นล่องได้ตลอดสาย ตั้งแแต่ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ถึงสุดปากแม่น้ำวัง ไหลลงไปบรรจบแม่น้ำปิง ที่ อ.สามเงา จ.ตาก เมื่อได้ทราบถึงที่มาของเกาะนี้และแม่น้ำวังบ้างเล็กน้อยแล้ว ก็จะขอกล่าวถึงสภาพถนนสายยาวของเมืองลำปาง เพื่อเป็นความรู้แก่ผู้ที่ไม่เคยรู้เห็นในรุ่นหลัง ๆ นี่บ้าง และพอเป็นทางเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับวัดเกาะนั้นต่อไป
ถนนสามสายในตัวเมือง นอกจากถนนซอยตัดเชื่อมกันแต่ละสายแล้ว ก็มีถนนสายยาวตัวเมืองลำปางอยู่ 3 สาย คือ สายที่ 1 ตั้งแต่หมู่บ้านพิชัย ผ่านหลังค่ายทหาร (เมื่อก่อนถือเป็นด้านหน้าค่ายทหารปัจจุบัน) ไปจากกำแพงเมือง ที่ห้าแยกหอนาฬิกาเรียกว่าประตูเชียงราย ต่อจากกำแพงเมืองออกไปเป็นป่าละเมาะทุ่งนา ถนนสายนี้มีชื่อเรียกว่า “กองหลวง” (ปัจจุบันมีชื่อว่าถนนบุญวาทย์) ที่มีชื่อว่ากองหลวงเห็นจะเป็นเพราะถนนสายนี้ผ่านศาลากลาง ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า “เก๊าสนามหลวง” และติดต่อกันขึ้นไปอีก ตอนหหน้าโรงพักตำรวจและโรงเรียนบุญทวงศ์ (เทศบาล 3) ก็เป็นคุ้มหลวงที่อยู่ของเจ้าผู้ปกครองเมือง นครลำปาง ซึ่งชาวเมืองเรียกว่า “เจ้าหลวง” (องค์สุดท้ายคือเจ้าหลวงบุญวาทย์)
ถนนสายนี้ได้ผ่านสถานที่ที่มีคำว่า “หลวง ๆ” อยู่กระมังจึงเรียกชื่อว่า “กองหลวง” ถนนสายนี้ใช่ว่าจะมีความแออัดด้วยตึกราม บ้านเรือน ร้านค้า รถราวิ่งขวักไขว่ เช่น ปัจจุบันนี้ก็หาไม่ เงียบเหงากว่าทุกสาย มีบ้านเรือนอยู่ห่าง ๆ กัน รั้วบ้านก็เป็นไม้ไผ่ขัดสานเรียกตามภาษาพื้นเมืองว่า “ฮั้วสะราบ” อย่างหนึ่ง และ “ฮั้วตาแสง” อย่างหนึ่ง ถ้าใครไม่กล้าเข้มแข็งพอแล้ว ขนาดคนเดียวสองคนอย่าได้ริไป เดินยามค่ำคืนเลย อาจถูกมิจฉาชีพอันธพาลรังควานเอาก็ได้ หรือไม่ก็อาจถูกผีข้าง ๆ ถนนตอนเปลี่ยว ๆ หลอกเอา เมื่อผู้เขียนเป็นเด็ก ๆ พอจะจำความได้แล้วไปมาเล่นตามละแวกตอนที่เฉพาะใกล้ ๆ บ้านมาเล่าสู่กันฟัง คือตอนมุมนอกกำแพงวัดสวนดอก ด้านตะวันออกมีต้นโพธ์ใหญ่อยู่ต้นหนึ่งข้าง ๆ ถนน เวลานี้ถูกล้มลงไปแล้วใต้ต้นโพธิ์นั้นจะมี สวย (กรวยใบตอบดอกไม้ธูปเทียน)วางอยู่โค้นต้นเสมอ เก่าหายไปใหม่มาแทน บางทีก็มีสองสามสวยแสดงว่าต้องมีการบนบานศาลกล่าว จ้าว ผีสาง นางไม้หรือเทวดาอะไรก็แล้วแต่ สิงสู่อยู่ต้นโพธิ์นั้นศักดิ์สิทธิ์ อาจดลบันดาลให้เป็นไปตามความขอร้องวิงวอน ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงเต็มไปด้วยธูปเทียนจุดขอหวยเบอร์กันเกร่อทีเดียว นอกจากนั้นยังเคยได้ทราบข่าวเล่าบ่อย ๆ ว่า มีนักเที่ยวกลางคืนหรือมีความจำเป็นบางคนที่ต้องผ่านไปมาทางนั้น โดนผีหลอกถึงกับเป็นไข้หัวโกร๋นไปก็มี นอกจากนี้ คงจะมีที่เฮี้ยน ๆ และศักดิ์สิทธิ์ตอนใดตอนหนึ่ง บนถนนสายนี้อีกก็เป็นได้ ตอนเหนือขึ้นไปถึงสี่แยกราชวงศ์ หน้าธนาคารออมสินตรงตึกแถวร้านค้าสหกรณ์ จะเป็นที่ตั้งของคอก (เรือนจำ) ตอนกลางคืนจะได้ยินเสียงตำรวจยามตีเกราะเคาะไม้ บนป้อมยามเป็นระยะ ๆ ทำให้สะท้อนเศร้า วังเวงใจไม่น้อย
สายที่ 2 ถึงต้นแยกจากกองหลวง (ถนนสายบุญวาทย์) ตอนเหนือวัดหมื่นกาดขึ้นไป ลงมาผ่านหน้าวัดคะตึก ไม่มีคำว่าเชียงมั่น เพราะสมัยนั้น คำว่า คะตึก กับเชียงมั่นเป็นชื่อวัดสองวัด วัดคะตึกอยู่ด้านหน้าติดถนน วัดเชียงมั่นอยู่ด้านหลัง ต่อมารื้อกำแพงกลางออกรวมเป็นวัดเดียวกันเรียกชื่อเสียใหม่ว่า “วัดคะตึกเชียงมั่น” (ปัจจุบัน) ตรงลงมาผ่านหน้ากาดมั่ว (ตลาดสด) ที่หัวถนนทิพย์วรรณ เมื่อก่อนถนนทิพย์วรรณตลอดทั้งสาย เป็นตลาดสดมีหลังคามุงครอบสุดสาย ทะลุถึงถนนบุญวาทย์ แยกออกไปทะลุถนนราชวงศ์เชื่อมอีกตอนหนึ่ง ซึ่งได้ถูกไฟไหม้ไปเสียทั้งหมด แต่เมื่อ พ.ศ. 2468 เลยตัดเป็นถนนอยู่จนทุกวันนี้ส่วนสายใหญ่ที่ผ่านวัดคะตึกฯ ลงมาคือสายที่สองนี้มีชื่อว่า “กองก๋าง” (ทิพย์ช้างปัจจุบัน) เป็นสายที่ยาวกว่าทุกสาย เมื่อผ่ากาดมั่วมาแล้ว ก็ยาวเรื่อยลงไป ผ่านวัดสิงห์ชัย, ดำรงธรรม, ศรีบุญเรือง, นาก่วม ขนานไปกับริมแม่น้ำวัง ผ่านบ้านปงบ้านต้า บ้านฟ่อน ไปบรรจบลงแม่น้ำวังข้างวัดลำปางกลางฝั่งตะวันออก นับว่าเป็นถนนที่ยาวที่สุด
ให้ประชาชนใกล้ไกลบ้านนอกในเมืองมีทางสัญจรไปมาสะดวกมาก ถึงแม้จะไม่มีเคหะสถานบ้านเรือน สองข้างถนนแออัดนัก ก็นับว่าจะยังดีกว่าสายที่ 1 แต่ถึงกระนั้นก็มีเพียงบางครั้งบางคราวหรือเวลาเทศบาลเท่านั้นพอมีความสัญจรมาก เพราะอยู่กลางเมืองจึงเรียกว่ากองก๋าง ส่วนกลางคืนนับว่าเงียบเชียงอยู่นั้นเอง ถ้าจะเปรียบกับปัจจุบันแล้ว เทียบกันไม่ติดไกลกันอย่างมากมาย ความสว่างไสวฟืนไฟ ก็คงมีตะเกียงน้ำมันหรือจุดใต้กันบ้านใครบ้านมัน หมดงานก็พักผ่อนนอน รุ่งขึ้นก็ออกไปทำมาหากินตามอาชีพ ทำไร่ ทำนา ค้าขาย ไม่วุ่นวายว้าวุ่นอกจะแตกตายเหมือนทุกวันนี้ สายที่ 3 “ กองต้า ” อันเป็นภาษาของชาวพื้นเมืองเรียกกัน หรือถนนตลาดจีน (ตลาดเก่าปัจจุบัน) แยกจากถนนทิพย์ช้าง ตั้งแต่เหนือเชิงสะพานรัษฎาภิเษกขึ้นไปเล็กน้อย ยาวเรื่อยมาขนานไปกับฝั่งแม่น้ำ