ประวัติของยีราฟ
ยีราฟ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นสัตว์ที่กินพืช กินได้ทั้งหญ้าที่ขึ้นอยู่กับพื้น และพุ่มไม้สูง ๆ โดยเฉพาะพุ่มไม้ประเภทอาเคเชียหรือกระถินณรงค์ที่มีหนามแหลม มีรสฝาด และมีพิษ แต่ยีราฟก็สามารถกินได้อย่างไม่มีปัญหา เพราะมีลิ้นที่ยาวถึง 45-47 เซนติเมตร และมีความหนาสาก ใช้ตวัดกินได้โดยไม่ได้รับอันตราย และทนทานต่อสารพิษได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อยีราฟจะดื่มน้ำหรือกินอาหารที่อยู่พื้นล่าง ต้องถ่างขาทั้งคู่หน้าออก และก้มคอลง เพราะมีกระดูกที่ข้อต่อต้นคอเพียง 7 ข้อเท่านั้น นับเป็นช่วงที่ยีราฟจะได้รับอันตรายจากสัตว์กินเนื้อที่บุกจู่โจมได้ เพราะเป็นช่วงที่อยู่ในท่าที่ไม่คล่องตัว วัน ๆ หนึ่งยีราฟจะกินอาหารเฉลี่ยวันละ 20-30 กิโลกรัม ขณะที่นอนหลับในท่ายืนเพียงวันละ 2 นาที-2 ชั่วโมงเท่านั้น ยีราฟเมื่อวิ่ง จะวิ่งได้ไม่นานนักเนื่องจากหัวใจจะสูบฉีดเลือดอย่างหนัก และเมื่อวิ่งจะต่างจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ เพราะทั้งขาหลังและขาหน้า ที่อยู่ข้างเดียวกัน จะยกขึ้นลงพร้อม ๆ กัน จึงมีลักษณะการวิ่งแบบควบกระโดดโคลงเคลงไปมา และคอที่ยาวก็จะมีอาการแกว่งไกวไปมาด้วย
แม้จะเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ แต่ยีราฟก็ยังถูกคุกคามจากสัตว์กินเนื้อได้ เช่น สิงโต หรือไฮยีนา ยีราฟมีวิธีการป้องกันตัวคือ การเตะ จากขาหลังที่ทรงพลัง ซึ่งทำให้สิงโตได้รับบาดเจ็บได้ สิงโตจึงไม่ค่อยโจมตียีราฟตัวที่โตเต็มที่ แต่จะเล็งไปยังลูกยีราฟมากกว่า
คอของยีราฟประกอบด้วยกล้ามเนื้อที่แข็งแกร่งยึดติดกับบริเวณหัวไหล่ คอของยีราฟจึงไม่ห้อยตกลงมา ซึ่งคอของยีราฟนอกจากจะใช้เพื่อการดำรงชีวิตทั่วไป ยังมีส่วนสำคัญในพฤติกรรมทางสังคมเช่นกัน ยีราฟตัวผู้จะเข้าต่อสู้โดยใช้คอของถูหรือฟาดกับยีราฟตัวอื่น เพื่อจะแสดงความเป็นจ่าฝูง และใช้เกี้ยวพาราสีหาคู่เพื่อสืบพันธุ์ด้วย