สอศ.จับมือสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นนักเรียนในสังกัดอาชีวศึกษา พบเด็กอาชีวะออกกลางคัน เหตุมีเพื่อนที่เรียนมาด้วยกันออกกลางคัน ปัญหาหลักคือไม่อยากเรียน รองลงมาคือยากจน...
เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 56 ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) ทำการวิจัยเชิงสำรวจความคิดเห็นนักเรียนในสังกัดอาชีวศึกษา จำนวน 1,018 คน เรื่อง เด็กอาชีวะออกกลางคัน เนื่องจากเป็นปัญหาสำคัญและต้องการหาแนวทางหรือมาตรการสำหรับแก้ปัญหาดังกล่าวให้ลดลง สามารถสรุปผลได้ดังนี้
จากการสอบถามเด็กอาชีวะในระดับชั้น ปวช.และปวส. พบว่า เด็กอาชีวะส่วนใหญ่ร้อยละ 73.38 เคยมีเพื่อนที่เรียนมาด้วยกันออกกลางคันระหว่างเรียน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหาส่วนตัว ร้อยละ 88.53 เช่น ไม่อยากเรียน ต้องทำงาน มีปัญหากับเพื่อน สุขภาพไม่ดี ติดแฟนและท้องระหว่างเรียน สาเหตุรองลงมา คือมีปัญหาครอบครัว ร้อยละ 85.27 เช่น ฐานะที่บ้านยากจน ต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน พ่อแม่หย่าร้าง เลิกกัน และมีปัญหาเรื่องการเรียน ร้อยละ 80.84 เช่น เรียนยาก รู้สึกไม่ชอบสาขาวิชาที่เรียน เนื้อหาที่เรียนไม่ตรงตามที่ต้องการ เป็นต้น
เมื่อถามถึงวิธีแก้ปัญหาที่ไม่ให้ออกกลางคัน เด็กอาชีวะส่วนใหญ่เห็นว่าต้องเริ่มที่ตัวเราเอง ต้องขยันตั้งใจเรียนให้มากขึ้น รู้จักดูแลตัวเองให้ดี ไม่เที่ยว ไม่มั่วสุมให้เสียการเรียน อีกทั้งพ่อแม่ ครูอาจารย์ และสถานศึกษาต้องคอยดูแลเอาใจใส่เด็กอย่างใกล้ชิด
และจากการสอบถามเด็กอาชีวศึกษา กรณีคุณคิดว่าตัวคุณเองจะมีสิทธิที่จะออกกลางคันหรือไม่ ร้อยละ 61.89 ตอบว่าไม่มีสิทธิ เพราะตั้งใจที่จะเรียนให้จบเพื่ออนาคตของตัวเอง อยากให้พ่อแม่ภูมิใจ มีอาจารย์ที่ดี คอยให้คำแนะนำมีเพื่อนดี ฯลฯ ร้อยละ 25.25 ตอบว่า ไม่แน่ใจ เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน สาเหตุของการออกกลางคันมีหลายอย่าง หากผลการเรียนไม่ดี มีปัญหาระหว่างเรียน ก็มีโอกาสเป็นไปได้ ฯลฯ และร้อยละ 12.86 ตอบว่า มีสิทธิที่จะออกกลางคัน เพราะกำลังมีปัญหาระหว่างเรียน มีปัญหากับเพื่อน รู้สึกเบื่อ ไม่อยากเรียน สภาพเศรษฐกิจไม่ดี ฐานะทางบ้านไม่ดี พ่อแม่อาจไม่มีเงินส่งให้เรียน ฯลฯ