สิ่งแวดล้อมกับวิถีชีวิตชาวพม่า
สหภาพพม่านับเป็นประเทศหนึ่งในอุษาคเนย์ ซึ่งเป็นดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านวัฒนธรรมมายาวนานนับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนกระทั่งเข้าสู่ยุคสมัยปัจจุบันและเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นทางเอกลักษณ์วัฒนธรรมชาติหนึ่ง จากลักษณะทางด้านภูมิศาสตร์ของ ประเทศพม่านั้น พม่าได้ตั้งอยู่ระหว่างอู่อารยธรรมอันเก่าแก่ของโลกตะวันออกสองแหล่งคือ จีนและอินเดีย และเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ทั้งยังเป็นดินแดนอันเก่าแก่ของมนุษย์ที่มีความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ดำรงอยู่ร่วมกันบนผืนแผ่นดินที่รุ่มรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติแห่งนี้ และได้หล่อหลอมให้พม่ามีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านวัฒนธรรม รูปแบบสถาปัตยกรรม ประเพณี วิถีชีวิต สภาพสังคม อันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองมาช้านานจากปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อมของพม่าได้มีอิทธิพลอย่างยิ่งในการกำหนดแบบแผนทางด้านวัฒนธรรม อาหารการกิน สภาพวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชนชาวพม่าและชนชาติอื่นๆ จากหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์จะพบว่าราชธานีโบราณที่สำคัญของชาวพม่ามักจะกระจุกตัวอยู่แต่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดีในบริเวณพื้นที่ราบทางตอนกลางของประเทศ ซึ่งเป็นเขตที่แห้งแล้ง อันเนื่องมาจากแนวเทือกเขายะไข่และแนวเทือกเขาฉิ่นที่ได้พาดผ่านจากด้านทิศเหนือลงมาสู่ด้านทิศใต้ ทางด้านทิศตะวันตกของประเทศ ซึ่งได้ขวางกั้นลมมรสุมที่พัดพาเอาความชุ่มชื้นจากอ่าวเบงกอลมาสู่บริเวณนี้ แต่เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้มีแม่น้ำลำคลองไหลผ่านหลายสาย อาทิเช่น แม่น้ำอิรวดี แม่น้ำชิดวินห์ แม่น้ำมฺยิดแหง่ แม่น้ำมู แม่น้ำซอจี แม่น้ำปางล่อง แม่น้ำซโม่ง ฯลฯ ซึ่งแม่น้ำเหล่านี้ได้พัดพาเอาดินตะกอนอันโอชะที่มีความอุดมสมบูรณ์ลงมาสู่บริเวณพื้นที่ราบลุ่มในเขตนี้ โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มเจ๊าก์แซ ( gdykdNCPN) ที่ถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออาณาจักรโบราณของชนชาวพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาณาจักรพุกกามอันรุ่งโรจน์ ความยิ่งใหญ่ของศาสนสถานทางพระพุทธศาสนาและหมู่พระเจดีย์อันงดงามกว่าสี่พันองค์ ที่หลงเหลือเป็นมรดกมาให้กับชาวพม่าและผู้คนทั่วโลกได้ภาคภูมิใจในทุกวันนี้ อาจกล่าวได้ว่าความสำเร็จของอาณาจักรพุกกามมาจากผลผลิตทางด้านเกษตรกรรมจากนาข้าวบริเวณพื้นที่ราบเจ๊าก์แซ ผนวกกับวิทยาการทางด้าการชลประทานอันซับซ้อน ประกอบกับความสามารถในการจัดการด้านแรงงาน อันมีประสิทธิภาพของกษัติริย์พม่าแต่โบราณ ในด้านความเป็นองค์เทวสิทธ์ ที่ได้รับคติจากพราหมณ์-ฮินดูนี้เองที่ทำให้อาณาจักรพุกกามสามารถดำรงความยิ่งใหญ่มายาวนานนับพันปีนอกเหนือจากการเพาะปลูกข้าวที่เป็นพืชที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้แล้ว บริเวณที่ราบลุ่มทางตอนกลางอันแห้งแล้งนี้ยังเหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ อาทิเช่น ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ งา ไม้ยืนต้นจำพวก ต้นตาล มะม่วง ขนุน ฝรั่ง มะพร้าว พืชผักสวนครัวและถั่วชนิดต่างๆ โดยเฉพาะถั่วหรือที่ชาวพม่าเรียกว่า “ แบ” ( xc) นั้นชาวพม่ารู้จักถั่วและนิยมบริโภคถั่วมากมายสารพัดชนิด การบริโภคถั่วจึงเข้ามาเป็นบริโภคนิสัยของชาวพม่าและถือเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมการกินที่โดดเด่นชาติหนึ่ง ชาวพม่าสามารถนำถั่วมาดัดแปลงและประกอบปรุงเป็นอาหารสารพัดอย่าง และด้วยเหตุที่ถั่วเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของคนพม่านี้เอง จึงทำให้คำว่าถั่วเข้าไปปรากฏในสำนวน สุภาษิต และคำเปรียบเปรยต่าง ๆ ที่สะท้อนหรือสื่อให้เห็นถึงความสำคัญและมีนัยยะที่สัมพันธ์ต่อวิถีการดำรงชีวิตในสังคมของชาวพม่า นอกจากนี้แล้วบริเวณพื้นที่ทางตอนกลางของประเทศพม่านี้ ยังอดุมไปด้วยทรัพย์ในดินที่มีคุณค่าในทางเศรษฐกิจ อาทิเช่น น้ำมันดิบและแร่รัตนชาติ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลกในปัจจุบัน
ส่วนผืนแผ่นดินบริเวณตอนล่างของประเทศพม่านั้น ลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยพื้นที่ราบลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์สามแห่งใหญ่ๆ คือ ที่ราบลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี ที่ราบลุ่มปากแม่น้ำสะโตงและที่ราบลุ่มปากแม่น้ำสาละวิน ทำให้บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีการกระจายตัวของประชากรหนาแน่นที่สุดในพม่า โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ราบลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดีนั้น แม่น้ำอิรวดีได้ฉีกตัวเองออกเป็นรูปพัด ก่อนที่จะไหลลงสู่อ่าวเมาะตะมะ ก่อให้เกิดพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์สูงสุดที่หลากหลายทางด้านชีวภาพและมีความเหมาะสมต่อการเกษตรกรรมโดยเฉพาะการทำนาข้าว ทั้งยังเป็นแหล่งปลาน้ำจืดที่สำคัญนา ๆ ชนิด ความเกื้อกูลของแม่น้ำอิรวดีที่มีต่อชาวพม่านี้เองทำให้ชาวพม่ายกย่องเทิดทูนเสมือนเส้นโลหิตใหญ่ที่หล่อเลี้ยงและโอบอุ้มชีวิตของประเทศนี้เอาไว้