งานวิจัยนี้มีแนวคิดในการเตรียมโฟมพอลิยูรีเทนแบบแข็งโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาแบบหน่วงที่เตรียมจากสารประกอบเชิงซ้อนคอปเปอร์-แอมีนและกรดคาร์บอกซิลิก คือ Cu(OAc)2(en)2Sal และ Cu(OAc)2(trien)Sal พิสูจน์เอกลักษณ์ของตัวเร่งปฏิกิริยาแบบหน่วงที่สังเคราะห์ได้โดยใช้ยูวี-วิซิเบิล สเปกโตรสโคปี และอินฟราเรด สเปกโตรสโคปี และนำมาใช้ในการเตรียมโฟมพอลิยูรีเทนแบบแข็ง ศึกษาเวลาที่ใช้ในการเกิดปฏิกิริยาของการเกิดโฟม จากผลการทดลองพบว่า กรดมีผลทำให้ปฏิกิริยาการเกิดโฟมพอลิยูรีเทนช้าลง โดยสามารถควบคุมการหน่วงเวลาการเกิดปฏิกิริยาได้จากปริมาณกรดที่เติมลงไป ซึ่งพบว่า Cu(OAc)2(en)2Sal และ Cu(OAc)2(trien)Sal ที่อัตราส่วนโมลระหว่างสารประกอบเชิงซ้อนคอปเปอร์-แอมีน:กรดคาร์บอกซิลิก เท่ากับ 1:1 และ 1:0.5 ตามลำดับ ทำให้ปฏิกิริยาช่วงเริ่มต้นช้าลง คือ เวลาที่สารผสมเป็นเจลอยู่ที่ประมาณ 1 นาที ทำให้มีระยะเวลาเพียงพอในการเทสารผสมลงในแม่พิมพ์และทำให้การขึ้นรูปโฟมพอลิยูรีเทนมีความสะดวกมากขึ้นแต่ไม่ทำให้เวลาที่เกิดเป็นโฟมพอลิยูรีเทน (tack-free time) ช้าลงไปมากเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเร่งปฏิกิริยาไดเมทิลไซโคลเฮกซิลแอมีนซึ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทางการค้า