การให้ความสำคัญกับประเด็นของธุรกิจด้านอาหารถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ประเทศไทยยึดถือเป็นแผนแม่บทในการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่จะได้เปรียบทางการแข่งขันโดยผู้ประกอบการไทย ตามที่สำนักส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้ทำการศึกษาถึงโอกาสและอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการ ซึ่งประเด็นดังกล่าวรัฐบาลให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปไทยทั้งในส่วนของอาหารแช่แข็ง รวมถึงเครื่องปรุงรสที่เป็นที่ต้องการของประเทศสหรัฐอเมริกาและรวมถึงบรรดาประเทศตะวันตก จะเห็นได้ว่าธุรกิจอาหารไทยได้มีบทบาทในเวทีระดับโลก มูลค่าตลาดเครื่องปรุงรสอาหารในประเทศมีการขยายอย่างต่อเนื่องทุกปี
แนวโน้มการส่งออกอาหารไทยในปี 2556 คาดว่าจะมีมูลค่าราว 1,030,000 ล้านบาทขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกในปี 2556 ที่จะขยายตัวร้อยละ3.5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.3 ในปี 2555 นายเพ็ชร ชินบุตร (ฐานเศรษฐกิจออนไลน์, 2556)ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า สินค้าส่งออกที่คาดว่าจะมีการขยายตัวสูงในปี 2556ประกอบด้วย 6 กลุ่ม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ กลุ่มเครื่องปรุงรส (ซอสพริก ซอสถั่วเหลือง น้ำปลา น้ำมันหอย พริกแกงสำเร็จรูป ผงปรุงรส ฯลฯ) คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกกว่า 17,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 ปัจจัยหนุนให้มูลค่าการส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารของไทยคือ ชาวต่างชาติหันมานิยมรับประทานอาหารไทยมากขึ้น การขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคารไทยในต่างประเทศทำให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น รวมทั้งความนิยมเครื่องปรุงรสอาหารจากไทย เริ่มขยายตัวไปสู่การวางจำหน่ายบนชั้นในซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ ทำให้ชาวต่างชาติที่นิยมรับประทานอาหารไทยมีความสะดวกมากขึ้นในการซื้อเครื่องปรุงรสอาหารไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารของไทยควรที่จะประเมินความพร้อมทางธุรกิจก่อนที่จะออกไปสู่การแข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศว่ามีความพร้อมที่จะแข่งขันกับคู่แข่งมากน้อยเพียงใด สิ่งสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งคือ ความสามารถในการประกอบการของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสไทย เพื่อให้ศักยภาพการแข่งขันเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล