ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผักกะแยง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Limophila aromatica (Lamk) Merr
"ผักกะแยง" เป็นผักที่ขึ้นเองตามท้องนาในฤดูทำนา เริ่มจากฝนลงครั้งแรก ขยายพันธุ์โดยเมล็ด แล้วแตกต้นออกเป็นกอ ลำต้นกลวง ขึ้นเป็นลำเดี่ยวยาวประมาณสักคืบกว่าๆ ใบออกตามลำต้นที่อวบและกลวง ลำต้นอ่อน กินได้ตลอดลำต้น เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ผักกะแยงก็เริ่มโรยรา และหายลงใต้ดินในที่สุด รอวันฝนลงอีกครั้งในพรรษาหน้า
ผักกะแยงชอบดินดำน้ำชุ่ม ดังนั้นจึงสามารถนำผักกะแยงมาปลูกได้ หรือถ้าลำต้นฝังอยู่ตามบึง บ่อ ที่มีน้ำขังตลอดปี ผักกะแยงก็สามารถขึ้นงอกงามได้ตลอดปีเช่นกันแต่เพราะผักกะแยงเป็นผักที่ขึ้นตามธรรมชาติ เป็นสัญลักษณ์หน้านา ชาวบ้านหลายท้องถิ่นทางภาคอีสานไม่นิยมนำมาปลูก ไม่มีการขาย เรียกว่าอยากกินก็ไปดึงทึ้งเอาเป็นกอบเป็นกำจากท้องนา ถือเป็นผักสาธารณะ
บางแห่งเช่นอีสานลุ่มแม่น้ำโขง มีการนำมาปลูกตามริมบึง หรือแม้แต่ในกระถาง กะละมังแตกใต้ลุ่มบ้านตรงที่ล้างผัก ล้างปลา เพื่อให้ได้น้ำที่ไหลลงจากชานครัว ผักกะแยงก็จะงามสะพรั่ง บางแห่งมีการเก็บตามท้องไร่ท้องนามามัดกำนำไปขายในตลาดในหมู่บ้าน ในอำเภอ หรือในเมือง สนนราคาก็ถูกมาก ปัจจุบันนี้ผักกะแยงมีขายตามตลาดในกรุงเทพประปราย อยู่ในกลุ่มผักบ้านนอก ลูกค้าก็จะเป็นคนต่างจังหวัดที่คิดถึงบ้านมาซื้อไปทำอาหารกินแก้ความรู้สึกคิดถึงบ้าน คิดถึงอาหารพื้นบ้าน
ผักกะแยงเป็นผักใบเขียว ต้นเขียวสดใส กินได้ตลอดลำต้นเพราะไม่มีเสี้ยนผักแต่อย่างใด ความเด่นของผักก็คือมีกลิ่นแรง กลิ่นฉุนหอมมาก ผักกะแยงจึงเป็นผักที่เสริมกลิ่นอาหารได้อย่างดีเยี่ยม เป็นกลิ่นเฉพาะของผักกะแยงที่ทำให้คนไกลบ้านไกลเถียงนาคิดถึงบ้านได้
ผักกะแยงกินได้หลายแบบแล้วแต่ท้องถิ่น อีสานตอนบนติดกับลำน้ำโขง คืออุดรธานี อุบลราชธานี หนองคาย จะมีการกินผักกะแยงสดเป็นผักจิ้ม เช่นจิ้มน้ำพริกหรือเรียกว่าจิ้มป่นจิ้มแจ่ว กันกับก้อยปลา ส่วนอีสานตอนกลาง เช่น ชัยภูมิ โคราช ขอนแก่น ไม่นิยมกินสดๆ