บทคัดย่อ
การวิเคราะห์โลหะหนักในถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยเทคนิคอะตอมมิกแอบซอร์พชันสเปกโทรโฟโตเมทรี ซึ่งนำถุงพลาสติกของห้างสรรพสินค้า 3 แห่ง ในอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า A ห้างสรรพสินค้า B และห้างสรรพสินค้า C เก็บตัวอย่างแบ่งออกเป็น 2 ครั้งคือ กลุ่มตัวอย่างเดือนกรกฎาคม และกลุ่มตัวอย่างเดือนสิงหาคม และได้แบ่งตัวอย่างออกเป็น 2 ส่วน คือ ด้านหน้า และด้านหลัง ทำการวิเคราะห์ปริมาณโลหะหนักตะกั่ว แคดเมียม และโครเมียม ด้วยเครื่องอะตอมมิกแอบซอร์พชันสเปกโทรโฟโตมิเตอร์ ทั้ง 2 เทคนิค คือ เทคนิคเฟลมอะตอมไมซ์เซชัน และเทคนิคแกรไฟต์อะตอมไมซ์เซชัน ซึ่งโลหะหนักที่พบมากที่สุด คือ โครเมียม ในตัวอย่างด้านหน้าเดือน กรกฎาคมของห้างสรรพสินค้า A พบปริมาณ 10.885 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และโลหะหนักที่พบน้อยที่สุด คือ โครเมียม ในตัวอย่างด้านหน้า เดือนสิงหาคมของห้างสรรพสินค้า C พบปริมาณ 0.0002 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยการวิเคราะห์ปริมาณโลหะของตัวอย่างทั้ง 3 แห่ง จะพบปริมาณโลหะหนักตัวย่างด้านหน้าสูงกว่าตัวอย่างด้านหลังแสดงให้เห็นว่ามีโลหะปะปนอยู่ในสีที่พิมพ์ลงในพลาสติก และการตรวจสอบประสิทธิภาพของเทคนิคจากศึกษาร้อยละการได้กลับคืนมา พบว่า เทคนิคเฟลมอะตอมไมซ์เซชัน และเทคนิคแกรไฟต์อะตอมไมเซชันของตัวอย่างทั้ง 2 เดือน ร้อยละการได้กลับคืนมาของตะกั่ว แคดเมียม และโครเมียมอยู่ในช่วง 95.242 - 104.757 96.931 - 104.994 และ 95.636 - 104.038 ตามลำดับ ซึ่งมีค่าร้อยละการได้กลับคืนมาอยู่ในเกณฑ์ที่ยอบรับได้ นอกจากนี้ผลการวิจัยยัง พบว่า ปริมาณตะกั่ว แคดเมียม และโครเมียมในตัวอย่างถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 เดือน และทั้งสามห้างสรรพสินค้า ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4228 พ.ศ. 2553 และเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 พ.ศ. 2548 ซึ่งกำหนดให้มีการปนเปื้อนโลหะหนักตะกั่ว และแคดเมียมได้ไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม