หนองกุดทิง เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่มีความกว้างโดยเฉลี่ย 22,000 ไร่ ลึก 5-10 เมตร มีความหลากหลายทางชีวภาพประกอบด้วยสัตว์น้ำกว่า 250 สายพันธุ์ มีปลาที่เป็นเอกลักษณ์ไม่มีที่ใดในโลก 20 สายพันธ์ พืชน้ำกว่า 200 ชนิดเป็นที่ทำมาหากินของประชาชนในบริเวณนั้นกว่า 2,000 ครัวเรือน มีนกพันธุ์ต่างๆกว่า 40 ชนิด ด้วยความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวจึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลกแห่งที่สองของจังหวัดหนองคาย และมีที่อนุรักษ์เด็ดขาดคือ ไม่ให้คนผ่านไป เลี้ยงสัตว์ จับสัตว์ทุกชนิดในบริเวณนั้นมากกว่า 5 แห่ง จึงมีนกและสัตว์น้ำอาศัยอยู่เพื่อเพาะพันธุ์อย่างมากมายตลอดทั้งปี สถานที่ตั้งห่างจากอำเภอเพียง 1 กม.
จากคำกล่าวขานถึงบึงกุดทิงเป็นภาษาอีสานว่า “อำเภอบึงกาฬ นี้มีกุดทิงบนดินดำน้ำชุ่ม ปลากุ่มบ่อนเหมือนแข่แกงหาง ปลานางบ่อนเหมือนขางฟ้าลั่น จั๊กจั่นฮ้องเหมือนฟ้าล่างบน” หลายคนได้ยินอาจสงสัย จะต่างจากหนองบึงในแบบเดียวกันอย่างไร แต่สำหรับชุมชนชาวกุดทิงแล้ว คำเหล่านี้มีความนัยมากมาย บึงแห่งนี้ให้กุ้งหอยปูปลากบเขียด ผืนป่าในกุดออกเห็ด หน่อไม้ พืชผักให้ชุมชนได้เข้าไปเก็บกินทุกเมื่อ วัวควายได้เล็มหญ้ารอบบึง นกน้ำและนกอพยพมาอาศัยหากิน ออกลูกหลานอยู่ตามธรรมชาติมากมาย ทุกชีวิตใช้ประโยชน์ในบึงใหญ่แห่งนี้
บึงกุดทิง พื้นที่ชุ่มน้ำแห่งหนองคาย วันนี้ยังความเป็นธรรมชาติไว้อย่างแท้จริงด้วยความอุดมสมบูรณ์ของขนาดได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระดับโลก (พื้นที่แรมซาร์) แห่งที่ 11 ของประเทศไทย และในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งตรงกับวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (World Wetland Day) ที่โรงเรียนบึงกาฬ อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย มีงานรณรงค์ที่จะช่วยสื่อสารความเข้าใจและสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการอนุรักษ์ความเป็นธรรมชาติของกุดทิงให้อยู่คู่ชุมชนตลอดชั่วลูกชั่วหลาน อันเป็นเจตนารมณ์ของคนในพื้นที่
โดยการสนับสนุนของโครงการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนในประเทศไทยและลุ่มน้ำโขง WWF ประเทศไทย ภายในงานมีการเดินรณรงค์จากมุมมองของชุมชนต่าง ๆ รอบกุดทิง ทั้งบึงกาฬ โนนสมบูรณ์ และโคกก่อง เวทีการพูดคุยแลกเปลี่ยนที่มีทั้งเรื่องคุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำ การอนุรักษ์ ปัญหาและอุปสรรคในพื้นที่ ฉายให้เห็นภาพความร่วมมือร่วมใจและเกิดเป็นความเข้มแข็งของชุมชน นำไปสู่การมีส่วนร่วมของชุมชนในการกำหนดทิศทางอนาคตของตัวเองบนแรมซาร์ไซต์แห่งนี้
ไม่ธรรมดากับการที่อนุสัญญาแรมซาร์ประกาศรับรองกุดทิงให้เป็นพื้นที่สำคัญระดับโลก แสดงให้เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้มีคุณค่า มีความหมายต่อชุมชน จำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันจัดการอย่างยั่งยืน โยเฉพาะความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิงที่นำมาสู่การขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์ ด้วยพื้นที่หนองบึงประมาณ 16,500 ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ห่างจากตัวอำเภอบึงกาฬราว 5 กิโลเมตร มีรูปร่างที่มองจากทางอากาศคล้ายกับปีกผีเสื้อ ระดับน้ำลึกประมาณ 2-5 เมตร ในฤดูน้ำหลากอาจลึกมากสุดถึง 10 เมตร ที่สำคัญมีระบบนิเวศเชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง ทำให้มีความหลากหลายของชนิดปลาสูง
พื้นที่กุดทิงเชื่อมต่อแม่น้ำโขง ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีความหลากหลายของสังคมพืชน้ำและชนิดพันธุ์สัตว์น้ำ พบพันธุ์ปลาน้ำจืดถึง 123 ชนิด ในจำนวนนี้มีปลาประจำถิ่นและปลาอพยพที่มาจากแม่น้ำโขง ซึ่งมากกว่า 56 ชนิดเป็นปลาเศรษฐกิจ มีปลาซิวแคระ พันธุ์ปลาน้ำจืดขนาดเล็กที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังที่เล็กที่สุดของไทย ทั้งยังพบปลาที่อยู่ในสถานภาพเสี่ยงต่อการคุกคาม คือปลายี่สก หรือปลาเอิน
นอกจากนี้ พบปลาประจำถิ่นแม่น้ำโขง คือ ปลาบู่กุดทิง ปลาบู่แคระ ปลาซิวแก้ว ปลาซิวหางกรรไกรเล็ก ปลากัดอีสาน ปลาปักเป้าควาย ปลาสร้อยปีกแดง และปลาเหล็กใน ซึ่งเสี่ยงต่อการคุกคามเช่นกัน กุดทิงยังเป็นแหล่งพันธุกรรมที่สำคัญของกุ้งน้ำจืด 3 ชนิด คือ กุ้งฝอยเล็ก กุ้งฝอยใหญ่ และกุ้งฝอยแดง ชาวกุดทิงจะจับมากินภายในครัวเรือน เหลือจะขายในตลาดท้องถิ่น ส่วนการสำรวจพืชน้ำพบทั้งหมด 80 ชนิด และเป็นชนิดใหม่ของโลก คือต้นเล็บม้าและสาหร่ายข้าวเหนียวดอกเหลือง พรรณไม้เด่นที่พบมีทั้งกกสามเหลี่ยมหรือผือ สาหร่ายเทปยักษ์ และสาหร่ายข้าวเหนียวดอกเหลือง
กุดทิงเป็นแหล่งพักพิงของนกอพยพและนกประจำถิ่นหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นนกเป็ดน้ำ เหยี่ยว และนกน้ำอื่น ๆ อีกมากกว่า 100 ชนิด ที่พบมากได้แก่ นกเป็ดแดง ยังมีรายงานการพบนกที่หายากและอยู่ในสถานภาพถูกคุกคามของโลก ได้แก่ เป็ดลาย นกเป็ดหัวดำรวมถึงเหยี่ยวหาดูได้ยากอีก 2 ชนิด คือ เหยี่ยวทุ่งแถบเหนือ และเหยี่ยวทุ่งพันธุ์ยุโรป กุดทิงมีความหลากหลายทางชีวภาพมาก เป็นบึงน้ำในทุ่งน้ำหลาก เข้าเกณฑ์แรมซาร์เพราะเป็นตัวอย่างของพื้นที่ชุ่มน้ำที่หายาก เป็นแหล่งพันธุกรรมที่สมบูรณ์ของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีความหลากหลายทางชีวภาพมาก เป็นบึงน้ำในทุ่งน้ำหลาก เข้าเกณฑ์แรมซาร์เพราะเป็นตัวอย่างของพื้นที่ชุ่มน้ำที่หายาก เป็นแหล่งพันธุกรรมที่สมบูรณ์ของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีความหลากหลายของพันธุ์พืชพันธุ์ปลา เมื่อเป็นแรมซาร์ไซต์แล้ว ไม่ได้ห้ามชาวบ้านหาอยู่หากิน วิถีชุมชนทำได้ว่าเหมือนเดิมทุกอย่าง ยกเว้นการทำลายเท่านั้น เพราะหัวใจของอนุสัญญาแรมซาร์เป็นการอนุรักษ์และยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำในโลก โดยจะต้องมีการจัดการเพื่อให้เป็นประโยชน์อย่างชาญฉลาด