อ.เฉลิมพล กล่าวว่า สถิติความมั่นคงของมนุษย์จะแบ่งเป็นหัวข้อย่อย 7 ประการ ตามเกณฑ์ของ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประกอบด้วย 1.เศรษฐกิจ 2.สิ่งแวดล้อม 3.อาหาร 4.สุขภาพ 5.ความมั่นคงส่วนบุคคล 6.ชุมชน และ 7.การเมือง แล้วก็พบว่าแต่ละประเทศต่างก็มีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป แม้กระทั่งประเทศที่พัฒนาแล้วในระดับโลกอย่างสิงคโปร์ ก็ยังมีปัญหาในบางด้านเช่นกัน ทั้งนี้สถิติทั้งหมดจะใช้เกณฑ์ร้อยละ (0-100) ในการให้คะแนน เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย
โดยความมั่นคงของมนุษย์ในภาพรวม (HSI) ข้อมูลทั้งหมด 232 ประเทศ สรุปในปี 2554 สิงคโปร์ ครองแชมป์แบบนอนมา อยู่ที่ร้อยละ 80 ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่างบรูไน ที่ได้ร้อยละ 61 มาเลเซีย มาเป็นอันดับ 3 ร้อยละ 58 สูสีกับ ไทย ที่อยู่อันดับ 4 ร้อยละ 56 ขณะที่ กัมพูชา เป็นประเทศอาเซียนที่มีความมั่นคงของมนุษย์ในภาพรวมต่ำที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 16 เท่านั้น
เกณฑ์ต่อมา วัดกันด้วยตัวชี้วัดด้านการพัฒนาคน (HDI) ที่มีข้อมูลทั้งหมด 187 ประเทศสรุปในปี 2555 เช่นเดียวกัน สิงคโปร์ ยังเป็นประเทศที่สามารถพัฒนาศักยภาพคนได้สูงสุด อยู่ที่ร้อยละ 91 ตามมาด้วยบรูไนที่ได้ร้อยละ 84 มาเลเซียอันดับ 3 ได้ร้อยละ 66 และไทยยังคงเป็นอันดับ 4 แต่เมื่อดูคะแนนแล้ว สยามประเทศของเราได้เพียงร้อยละ 45 ถ้าพูดกันแบบภาษาบ้านๆ ย่อมแปลง่ายๆ ว่าไทยนั้น “สอบตก” ด้านความสามารถในการพัฒนาศักยภาพพลเมืองของตนนั่นเอง
“ความมั่นคงในภาพรวม หรือ Human Security Index จัดทำในปี 2554 จาก 232 ประเทศ ถ้าเราแบ่งประเทศที่มี Human Security สูง กับที่มี Human Security ต่ำลงมา เราพบว่า (ในอาเซียน) มีอยู่ 4 ประเทศที่อยู่ในครึ่งแรก คือค่อนข้างมีความมั่นคงสูง ประเทศแรกสูงที่สุดคือสิงคโปร์ ร้อยละ 80 ถือว่าสูง อีก 3 ประเทศเกาะกลุ่มกันอยู่ ก็คือบรูไน มาเลเซีย แล้วก็ไทย
ส่วน HDI หรือ Human Development Index 3 ประเทศแรก สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย มีระดับการพัฒนาคนที่ค่อนข้างสูง อยู่ในร้อยละที่ 91 84 และ 66 ตามมาด้วยประเทศไทยในอันดับ 4 แต่เราพบว่า ดัชนีการพัฒนาคนของไทย ทิ้งห่างจากมาเลเซียค่อนข้างสูง และมีค่าอันดับ Percentile (ค่าเฉลี่ยร้อยละ) ต่ำกว่า 50 อันนี้เป็นภาพรวม” อ.เฉลิมพล กล่าว
นักวิจัยด้านประชากรรายนี้ กล่าวต่อไปโดยแยกสถิติในด้านต่างๆ ทั้ง 7 ด้าน เริ่มกันที่ด้านเศรษฐกิจ วัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว (GNP) คราวนี้สิงคโปร์ (ร้อยละ 99) กับบรูไน (ร้อยละ 97) ทิ้งห่างอันดับ 3 อย่างมาเลเซีย (ร้อยละ 63) และอันดับ 4 อย่างไทย ที่ได้อันดับเกือบๆ สอบตก คือร้อยละ 51 ขณะที่ ลาว เป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในอาเซียน เพราะมีคนยากจน ที่มีรายได้น้อยกว่า 2 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 60 บาท) ต่อวัน อันเป็นเกณฑ์ความยากจนสากล ถึงร้อยละ 66 หรือ 2 ใน 3 ของประชากร ส่วนกัมพูชามีคนยากจนอยู่ที่ร้อยละ 53.3
แต่เมื่อมาดูสถิติการกระจายรายได้ พบว่ามาเลเซียกับไทย มีปัญหาด้านการกระจายรายได้ของประชากรค่อนข้างมาก มาเลเซียที่มีคนจนเพียงร้อยละ 2.3 แต่มีความเหลื่อมล้ำด้านฐานะของประชากรมากที่สุด คืออยู่ที่ร้อยละ 46.2 ส่วนไทยมีคนจนเพียงร้อยละ 4.6 มีความเหลื่อมล้ำด้านฐานะของประชากรอยู่ที่ร้อยละ 40 เป็นอันดับ 3 ส่วน ฟิลิปปินส์ จัดว่าเป็นประเทศที่น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะมีคนยากจนถึงร้อยละ 41.5 และมีความเหลื่อมล้ำด้านฐานะของประชากร เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน โดยอยู่ที่ร้อยละ 43 ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อวัดจากประชากรที่วันนี้ใกล้ทะลุ 100 ล้านคนเข้าไปแล้ว
ในด้านอาหาร หรือความอดอยาก-ขาดแคลนอาหาร ใช้ดัชนีความมั่นคงทางอาหารโลก (GFSI) ปี 2555 ในภาพรวม มาเลเซีย (ร้อยละ 70) ไทย (ร้อยละ 58) และเวียดนาม (ร้อยละ 49) ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่มีความมั่นคงพอสมควร แต่ในทางกลับกัน กัมพูชา พม่าและลาว เป็นประเทศกลุ่มเสี่ยงด้านการขาดแคลนอาหารค่อนข้างสูง ทั้งนี้แม้อาเซียนจะเป็นภูมิภาคที่ผลิตอาหารได้มาก แต่ก็มีผู้คนอีกมากเช่นกันยังไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ในปริมาณที่เหมาะสมได้
ในด้านสุขภาพ ประเทศไทยถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก เพราะมีประชากรเพียงร้อยละ 0.8 เท่านั้นที่ไม่มีหลักประกันการคุ้มครองทางสังคม ซึ่งตรงนี้ อ.เฉลิมพล มองว่าเป็นผลจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค) ขณะที่ลาว กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ประชากรส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกันใดๆ โดยลาวนั้นมีประชากรที่ไม่ได้รับหลักประกันคุ้มครองใดๆ สูงที่สุด ร้อยละ 98.3 กัมพูชารองลงมาร้อยละ 96.8 และฟิลิปปินส์เป็นประเทศกลุ่มเสี่ยงอันดับ 3 ร้อยละ 92.5 ที่น่าสนใจคือประเทศที่มีเศรษฐกิจดีอย่างมาเลเซีย กลับมีประชากรที่ไม่มีหลักประกันใดๆ คุ้มครองมากถึงร้อยละ 85
ในด้านความมั่นคงส่วนบุคคล ประเทศไทย ครองแชมป์การตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน สูงที่สุดในอาเซียน อยู่ที่ 38.1 คนต่อประชากร 1 แสนคน ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่างมาเลเซีย อยู่ที่ 25 คนต่อประชากร 1 แสนคน และอันดับ 3 เวียดนาม อันเป็นชาติที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้จักรยานยนต์เหมือนบ้านเรา อยู่ที่ 24.7 คนต่อประชากร 1 แสนคน แน่นอนว่าสิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนน้อยที่สุด อยู่ที่ 5.1 คนต่อประชากร 1 แสนคน
ความมั่นคงส่วนบุคคลอีกประการหนึ่ง คือสถิติการเสียชีวิตจากเหตุฆาตกรรม พบว่าพม่ามีอัตราการตายจากเหตุนี้มากที่สุด อยู่ที่ 10.7 คนต่อประชากร 1 แสนคน อินโดนีเซียตามมาเป็นอันดับ 2 อยู่ที่ 8.1 คนต่อประชากร 1 แสนคน ฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับ 3 อัตราการตายจากเหตุฆาตกรรมอยู่ที่ 5.4 คนต่อประชากร 1 แสนคน ส่วนไทยตามมาติดๆ เป็นอันดับ 4 อยู่ที่ 4.8 คนต่อประชากร 1 แสนคน และแน่นอนว่าสิงคโปร์ยังเป็นประเทศที่มีเหตุฆาตกรรมต่ำที่สุด เพราะมีผู้เสียชีวิตจากกรณีดังกล่าวเพียง 0.3 คนเท่านั้น
ในด้านชุมชน อ้างอิงดัชนีความสงบสุขโลก (GPI) ปี 2555 มาเลเซียถือเป็นประเทศที่สงบสุขที่สุดในอาเซียน อยู่ที่ร้อยละ 88 สิงคโปร์รองลงมาอยู่ที่ร้อยละ 86 เวียดนามตามมาเป็นอันดับ 3 อยู่ที่ร้อยละ 79 ขณะที่ประเทศไทยได้เพียงอันดับที่ 8 อยู่ที่ร้อยละ 21 เท่านั้น และพม่าเป็นประเทศที่มีความสงบสุขอยู่ที่ร้อยละ 13 ถือว่าน้อยที่สุดในภูมิภาค
ในด้านสิทธิและการเมือง อ.เฉลิมพล ใช้ดัชนีความไม่เท่าเทียมทางเพศ (ชาย-หญิง) ที่หมายถึงทั้งด้านสุขภาพ การทำงาน การศึกษาและการเมือง พบว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความเสมอภาคทางเพศมากที่สุด ร้อยละ 92 ตามมาด้วยมาเลเซีย ร้อยละ 72 เวียดนามอยู่ในอันดับ 3 ร้อยละ 68 และไทยเป็นอันดับ 4 อยู่ที่ร้อยละ 56 ขณะที่อินโดนีเซียนั