หน้า ๒๔ เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๑๐๔ ก ราชกิจจานุเบกษา ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
พระราชบัญญัติ
ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๘
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยธุรกิจรักษาความปลอดภัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๘”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศ
ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่บทบัญญัติในหมวด ๑ และมาตรา ๗๒ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจาก
วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“ธุรกิจรักษาความปลอดภัย” หมายความว่า ธุรกิจการให้บริการรักษาความปลอดภัยโดยจัดให้มี
พนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตทำหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน
ของบุคคล โดยได้รับเงินหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นใด แต่ไม่รวมถึงการให้บริการรักษาความปลอดภัย
โดยหน่วยงานของรัฐตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
“บริษัทรักษาความปลอดภัย” หมายความว่า บริษัทซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจรักษา
ความปลอดภัย
หน้า ๒๕
เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๑๐๔ ก ราชกิจจานุเบกษา ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
“บริษัท” หมายความว่า บริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือบริษัทมหาชนจำกัด
ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด
“พนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต” หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นพนักงาน
รักษาความปลอดภัยรับอนุญาต
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกำกับธุรกิจรักษาความปลอดภัย
“นายทะเบียน” หมายความว่า นายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนจังหวัด แล้วแต่กรณี
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติการ
ตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔ ให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นนายทะเบียนกลาง มีอำนาจหน้าที่
ตามพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนกลาง และเป็นนายทะเบียน
ประจำกรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ในเขตกรุงเทพมหานคร และรับผิดชอบ
การจัดทำบัญชีรายชื่อบริษัทรักษาความปลอดภัยและพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตทั่วราชอาณาจักร
ให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นนายทะเบียนจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้
ในเขตจังหวัดของตน และรับผิดชอบการจัดทำบัญชีรายชื่อบริษัทรักษาความปลอดภัยและพนักงาน
รักษาความปลอดภัยรับอนุญาตในเขตจังหวัดของตน
มาตรา ๕ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง
กำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่น
เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
การออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมตามวรรคหนึ่งจะกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการประกอบ
ธุรกิจรักษาความปลอดภัยให้แตกต่างกันโดยคำนึงถึงจำนวนพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตของ
บริษัทรักษาความปลอดภัยก็ได้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
คณะกรรมการกำกับธุรกิจรักษาความปลอดภัย
มาตรา ๖ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกำกับธุรกิจรักษา
ความปลอดภัย” ประกอบด้วย
(๑) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ
(๒) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ผู้บัญชาการศูนย์รักษา
ความปลอดภัย และผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก
หน้า ๒๖
เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๑๐๔ ก ราชกิจจานุเบกษา ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
(๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนหกคน ในจำนวนนี้จะต้องเป็น
ผู้แทนจากองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยไม่น้อยกว่าสองในสาม
ให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นกรรมการและเลขานุการ และข้าราชการตำรวจยศพันตำรวจตรีขึ้นไป
ในกองบัญชาการตำรวจนครบาลซึ่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแต่งตั้งจำนวนไม่เกินสองคน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
มาตรา ๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
ก. คุณสมบัติ
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย
ข. ลักษณะต้องห้าม
(๑) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๒) เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือน
ไร้ความสามารถ
(๓) เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิด
ที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๔) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการ
หรือผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งรับผิดชอบการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง
มาตรา ๘ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี
ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
แทนตำแหน่งที่ว่าง เว้นแต่วาระของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะเหลือไม่ถึงเก้าสิบวันจะไม่แต่งตั้งกรรมการ
ผู้ทรงคุณวุฒิแทนก็ได้ และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่
ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
ในระหว่างที่ยังไม่ได้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้คณะกรรมการ
ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่
เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่
ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต