ทิศทางการศึกษาไทย...จะไปทางไหน? | เดลินิวส์
„เรามักได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์บ่อยครั้งว่าปัญหาการศึกษาไทยที่หมักหมมนั้นจะต้องปรับรื้อปฏิรูปทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหลักสูตร ครูผู้สอน วิธีการสอน คุณภาพผู้เรียน ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยในปัจจุบันนั้นได้ยัดเยียดอัดแน่นให้เด็กต้องเรียนรู้เนื้อหาสาระมากมายหลายวิชาจนเกินความจำเป็น โดยกำหนดให้เรียนทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งการกำหนดเช่นนี้ดูเหมือนจะไม่ได้คำนึงถึงความสมเหตุสมผลหรือความสอดคล้องจำเป็นของผู้เรียนแต่ละช่วงวัย การยัดเยียดให้เด็กต้องเรียนเนื้อหามากมายอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ช่วงที่ผ่านมามีการมุ่งเน้นพัฒนาเฉพาะด้านความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) ของผู้เรียน เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้ครบถ้วนตามเนื้อหาสาระที่หลักสูตรกำหนด จนบางครั้งลืมว่าเราจะต้องพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์หรือการเข้าสังคม (EQ) ของผู้เรียนควบคู่กันไปด้วย ซึ่งแน่นอนเด็กแต่ละคนที่เกิดมาในบริบทที่ต่างกันย่อมมีระดับ IQ ที่ไม่เท่ากัน แล้วจะทำอย่างไรให้เด็กทุกคนมีระดับ EQ ที่สูงขึ้น เพราะ EQ จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนให้สังคมก้าวไกลไปได้ ส่วนครูผู้สอนต้องรับภาระงานอื่นที่ไม่ใช่งานสอนอีกมากมาย เวลาเกือบครึ่งหนึ่งของครูต้องไปทุ่มเทให้กับงานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย รวมถึงงานประเมินทั้งระดับสถานศึกษา ระดับเขตพื้นที่ ระดับชาติ นับแทบไม่ถ้วนที่ครูแต่ละคนต้องเตรียมงานเพื่อรับประเมินเหล่านั้น จนไม่มีเวลาให้กับห้องเรียน และบ่อยครั้งที่ครูต้องทิ้งห้องเรียน เหล่านี้เป็นต้นเหตุสำคัญที่ส่งผลให้เด็กจำนวนไม่น้อยอ่านหนังสือไม่ออกเขียนไม่ได้ ซึ่งส่งผลถึงคุณภาพการศึกษาโดยภาพรวมตกต่ำอย่างน่าตกใจ“