เป็นกฎหมายหมู่สำคัญหมู่หนึ่งในกฎหมายแพ่ง ในระบบการศึกษาของประเทศไทย กฎหมายลักษณะทรัพย์สินมักศึกษาถัดจากความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายและระบบกฎหมาย กฎหมายลักษณะบุคคล กฎหมายลักษณะหนี้ และกฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา ตามลำดับ ทว่า แม้ศึกษาแยกกันเป็นวิชา ๆ แต่กฎหมายเหล่านี้สัมพันธ์กันอยู่โดยสภาพ แยกใช้ขาดจากกันมิได้
บุคคลทุกคน ไม่ว่าบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เมื่อมีสภาพบุคคลแล้ว ย่อมมี "กองทรัพย์สิน" (estate) เป็นของตนเอง กองทรัพย์สินนี้เป็นที่รวมบรรดานิติสัมพันธ์ของบุคคลนั้นซึ่งมีค่ามีสิน นิติสัมพันธ์เหล่านี้ได้แก่ ทรัพย์สิน สิทธิเรียกร้อง และหนี้[2]
แต่ละคนมีกองทรัพย์สินของตนเพียงกองเดียวเท่านั้น[3] และบุคคลไม่อาจแยกจากกองทรัพย์สินตนได้จนกว่าสิ้นสภาพบุคคล สำหรับบุคคลธรรมดานั้น เมื่อสิ้นสภาพบุคคล กองทรัพย์สินของเขาจะเปลี่ยนไปเรียก "กองมรดก" (estate) และตกทอดแก่ทายาทหรือผู้อื่นต่อไป[4]
กฎหมายลักษณะทรัพย์สินนั้นมีหัวใจเป็นการกำหนดเจ้าของทรัพย์สินและขอบเขตของความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ตำรานี้แบ่งศึกษากฎหมายลักษณะทรัพย์สินตามลำดับดังนี้