การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพ สมรรถนะ และความต้องการการพัฒนาสมรรถนะในการจัดการเรียนการสอนของครูพลศึกษาระดับประถมศึกษาที่ไม่มีวุฒิทางพลศึกษา 2) เปรียบเทียบสมรรถนะ ของครูพลศึกษาในระดับประถมศึกษาที่ไม่มีวุฒิทางพลศึกษา จำแนกตามเพศและประสบการณ์การทำงาน และ 3) นำเสนอแนวทางการพัฒนาสมรรถนะของครูพลศึกษาในระดับประถมศึกษาที่ไม่มีวุฒิทางพลศึกษา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ครูผู้สอนพลศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการ การประถมศึกษาแห่งชาติ ที่ไม่มีวุฒิทางพลศึกษา จำนวน 372 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์สถิติพื้นฐาน สถิติทดสอบที (t-test) และสถิติทดสอบเอฟ (F-test)
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพการสอนพลศึกษา ครูพลศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อายุ 55 ปีขึ้นไป จบปริญญาตรี เอกประถมศึกษา มีประสบการณ์สอนวิชาพลศึกษา 21 ปีขึ้นไป มีชั่วโมงสอนมากกว่า 20 คาบต่อสัปดาห์ ได้รับมอบหมายให้สอนพลศึกษา เนื่องจากมีความสามารถทางการกีฬา เคยเข้าร่วมอบรมทางพลศึกษาเรื่องการตัดสินกีฬาและการเป็นผู้ฝึกสอนกีฬา มีการจัดการเรียนการสอน เป็นไปตามขั้นตอนของการสอนพลศึกษา สมรรถนะในการจัดการเรียนการสอนพลศึกษาโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ได้แก่ ด้านวัตถุประสงค์ ด้านหลักสูตรและเนื้อหา ด้านการสอนพลศึกษา ด้านสื่อและอุปกรณ์ ด้านการวัดและประเมินผล และด้านอื่น ๆ ได้แก่ ความรู้ทักษะ การปฏิบัติงาน และด้านการปฏิบัติตน ครูส่วนใหญ่ต้องการเข้ารับการอบรมในการพัฒนาเรื่องหลักสูตรและเนื้อหา การสอนพลศึกษา ด้านการวัดและประเมินผลทางพลศึกษา และต้องการงบประมาณในการซื้อสื่อและอุปกรณ์
2. ผลการเปรียบเทียบสมรรถนะในการจัดการเรียนการสอน จำแนกตามเพศ มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยครูพลศึกษาชายมีสมรรถนะในการจัดการเรียนการสอนดีกว่าครูพลศึกษาหญิง 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านวัตถุประสงค์ 2) ด้านหลักสูตรและเนื้อหา 3) ด้านการสอนพลศึกษา 4) ด้านการวัดและการประเมินผล 5) ด้านความรู้และทักษะ และ 6) ด้านการปฏิบัติงาน
3. ผลการเปรียบเทียบสมรรถนะในการจัดการเรียนการสอน จำแนกประสบการณ์การทำงาน มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยพบว่า ครูที่มีประสบการณ์สอนน้อยจะมีสมรรถในการจัดการเรียนการสอนพลศึกษาน้อยกว่าครูที่มีประสบการณ์สอนมาก