โครงการแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน
เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2510เพื่อ ตรวจรักษาราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร โดยไม่คิดมูลค่า และถ้าจำเป็นก็จัดส่งไปยังโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม และในท้องถิ่น ต่างๆ ที่ห่างไกลตัวเมืองมาก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล เครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนยารักษาโรค ออกทำการตรวจรักษาและพยาบาลราษฎรโดยไม่คิดมูลค้าในท้องถิ่นกันดารในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรีและประจวบคีรีขันธ์ โครงการหน่วยแพทย์พระราชทานประกอบด้วยการบำบัดรักษาจากคณะแพทย์พระราชทาน และการอบรมหมอหมู่บ้านเพื่อเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล
โครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์
โครงการตามพระราชประสงค์ หมายถึง โครงการที่ทรงศึกษาปฏิบัติส่วนพระองค์กับผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาต่างๆ เมื่อได้ผลดีแล้วจึงทรงนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน
โดยโครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์ เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2517เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดของราษฎรที่นิคม สร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส นิคมนี้มีสถานีอนามัย เพียงแห่งเดียว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดแพทย์ หมุนเวียนเข้าไปบริการตรวจรักษา แพทย์และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาล นราธิวาส และโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ออกไปปฏิบัติการสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง เป็นประจำ
หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน
ในปี พ.ศ.2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชปรารภว่า "เวลาพระองค์มีปัญหาเกี่ยวกับฟันก็มีทันตแพทย์ดูแลรักษาแล้วเวลาราษฎรที่อยู่ห่างไกล จะมีทันตแพทย์ช่วยรักษาหรือเปล่า"
ในเวลาต่อมา ทรงทราบว่าทันตแพทย์นั้นมีน้อยและมีอยู่ตามโรงพยาบาลประจำจังหวัดเท่านั้น บางจังหวัดก็ไม่มี พระองค์ทรงรับสั่งว่า "การที่จะให้ราษฎรที่ยากจนที่มีปัญหาเรื่องฟัน หยุดการทำนาทำไร่ เดินทางไปหาแพทย์นั้น เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ในทางตรงกันข้าม หากเป็นการให้บริการเคลื่อนที่ไปสู่ประชาชน ก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้ทางหนึ่ง"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงตรัสว่า “ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแลบำบัดทุกข์ให้แก่นักเรียนและประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นกันดารห่างไกล หมอและจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดตามความจำเป็นโดยให้จัดหน่วยเคลื่อนที่ไปโดยรถยนต์และตระเวนไปตามถนนหนทาง ตามหมู่บ้าน ที่อยู่ ห่างไกล ชนบท"
หน่วยทันตกรรมพระราชทานจึงก่อกำเนิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานทรัพย์ส่วน พระองค์ จัดซื้อรถยนต์ พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือทำฟัน มีทันตแพทย์อาสาออก ปฏิบัติงานโดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๑๒ โดยมี ทันตแพทย์ สี สิริสิงห์ เป็นหัวหน้าทีม เพื่อส่งทันตแพทย์อาสาสมัครออกช่วยเหลือ บำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟันแก่เด็ก นักเรียนและประชาชนที่อยู่ในท้องที่ทุรกันดารโดยไม่คิดมูลค่า ได้รับความ ร่วมมือจากทันตแพทย์โรงพยาบาลต่างๆ ในการออกปฏิบัติการภาคสนาม
โครงการศัลยแพทย์อาสาราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2518 หลังจากที่เปิดโครงการแพทย์พิเศษตามพระราช ประสงค์ใน พ.ศ. 2517 แพทย์ ที่อาสาสมัครซึ่งเป็นแพทย์อาวุโสและมีประสบการณ์มาก เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องมีศัลยแพทย์อาสาไปช่วยปฏิบัติงาน ณ โรงพยาบาลประจำจังหวัดสกลนคร ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ แปรพระราชฐาน ประทับที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จึงได้มีการศึกษาหาข้อมูล และความต้องการของโรงพยาบาลและหน่วยงานต่างๆ ในด้านศัลยกรรม และ รวบรวมจัดทำทำเนียบศัลยแพทย์อาสา แล้วก่อตั้งวิทยาลัยศัลยแพทย์ขึ้น ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับวิทยาลัยศัลยแพทย์ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ เปลี่ยนชื่อเป็น ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
โครงการแพทย์ หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้พระราชทาน
เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2522 เนื่องจากมีราษฎรเป็นจำนวนมากที่เจ็บป่วยด้วยโรคหู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้ ซึ่งจำเป็นต้องรับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาเหล่านี้ จึงโปรกเกล้าฯให้จัดหน่วยแพทย์อาสาสมัครในโรคดังกล่าว ผลัดดันออกไปปฏิบัติหน้าที่ประจำโรงพยาบาลประจำจังหวัด ที่เสด็จแปรพระราชฐานโดย อาศัยแพทย์หู คอ จมูกอาสาสมัครจาก โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลประจำจังหวัดนครราชสีมา และโรงพยาบาลประจำจังหวัดนครพนม ผลัดเปลี่ยนกันมาปฏิบัติราชการชุดละ 2 สัปดาห์เริ่มที่จังหวัดนราธิวาสก่อน ต่อมาขยายการปฏิบัติงานไปที่จังหวัดสกนนคร และที่โรงพยาบาลค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่