ลักษณะทางภูมิศาสตร์ภูมิประเทศเวียดนาม
ประเทศเวียดนามเป็นอีกประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อยู่ทางด้านตะวันออกสุดของคาบสมุทรอินโดจีน มีรูปร่างตัวเอส (S) ลักษณะเป็นแนวยาว จึงทำให้ทั้งสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศแตกต่างกว่าประเทศอินโดจีนอื่นๆ
สภาพภูมิประเทศ
ภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงกั้นระหว่างที่ราบลุ่มแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์มีลักษณะเป็นแนวยาว โดยมีความยาวจากเหนือจรดใต้ 1,650 กิโลเมตร ขนานไปตามแนวยาวของคาบสมุทรอินโดจีน และมีหมู่เกาะต่างๆ อีบพันเกาะเรียงรายตั้งแต่อ่าวตังเกี๋ยไปจนถึงอ่าวไทย
เวียดนามมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำแดงอยู่ทางตอนเหนือและที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงอยู่ทางตอนใต้ และตอนเหนือของประเทศมีที่ราบสูง มีภูเขาฟาน ซี ปัง (Phan Xi Pung) ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในอินโดจีน มีความสูงถึง 3,143 เมตร (10,312 ฟุต) ตั้งอยู่ในจังหวัดเลาไค
ลักษณะดังกล่าวทำให้เกิดการแบ่งเขตเป็น 3 ภาค ดังนี้
1.ภาคเหนือ มีภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาสูง มีแม่น้ำกุง (Cung) ซึ่งไหลไปบรรจบกับแม่น้ำแดงเกิดเป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง (Red River Delta) ที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก
2.ภาคกลาง ยังมีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่มากมาย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงซึ่งเต็มไปด้วยหินภูเขาไฟ หาดทราย เนินทราย และทะเลสาบเป็นเขตพื้นที่ป่าไม้สำคัญที่สุดของเวียดนาม สภาพภูมิอากาศค่อนข้างร้อนตลอดปี และมีเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม) และฤดูแล้ง (เดือนตุลาคม-เมษายน)
3.ภาคใต้ มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง และมีที่ราบลุ่มสำคัญ คือ บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong River Delta) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "กู๋ลองยาง” (Cuu Long Giang) ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญขนาดใหญ่ที่สุดของเวียดนาม