ประวัตินายขนมต้ม
นายขนมต้ม เป็นชาวพระนครศรีอยุธยา (เมืองหลวงของประเทศไทยในอดีต ) ถูกกวาดต้อนไปเป็นเฉลยศึก ในระหว่างกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๓๑๐
ในพงศาวดารได้กล่าวไว้ว่า ฝีมือการต่อยมวยของนายขนมต้มนั้นเป็นที่สนใจของเจ้ามังระกษัตริย์พม่าเป็นอย่างมาก สืบเนื่องมาจากพระเจ้ามังระทรงจัดพิธีเฉลิมฉลองพระเจดีย์ชเวดากองเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน และได้มีการจัดการแข่งขันชกมวยขึ้นในวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๑๓ โดยเวทีมวยนั้นอยู่บริเวณเบื้องหน้าพระที่นั่งของพระเจ้ามังระ นายขนมต้มสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ถึง ๑๐ คน ซึ่งทำให้พระเจ้ามังระทรงประทับใจ และประจักษ์ในความสามารถและทักษะการต่อยมวยของนายขนมต้มเป็นอย่างมาก นอกจากนี้พระเจ้ามังระยังทรงตรัสชื่นชมอีกด้วยว่า “คนไทยนี้มีพิษสงรอบตัว แม้มือเปล่ายังเอาชนะคนได้ถึงเก้าคนสิบคน” หลังจากนั้นนายขนมต้มก็ได้รับอิสรภาพจากพระเจ้ามังระและได้เดินทางกลับพระนครศรีอยุธยา และเขาได้บำเพ็ญประโยชน์แก่บ้านเมืองด้วยการสอนวิชามวยไทยตลอดระยะเวลาที่เหลืออยู่ที่บ้านเกิดของเขาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
จากพงศาวดารที่กล่าวมานี้ นายขนมต้มได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งมวยไทย” ตราบจนกระทั่งทุกวันนี้ มวยไทยเป็นศิลปะการป้องกันตัวที่มีชื่อเสียงและเลื่องลือเป็นอย่างมาก นอกจากนี้แล้วมวยไทยยังได้ชื่อว่าเป็นกีฬาที่ดุดันและน่าตื่นเต้นที่สุดอีกด้วย
เพื่อเป็นการระลึกถึงและยกย่องชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ที่นายขนมต้มได้สร้างชื่อเสียงให้ชาวไทยให้เป็นที่ประจักษ์ในศิลปะการต่อสู้นั้นจึงถือเอาวันที่ ๑๗ มีนาคมของทุกปีเป็นวันมวยไทยแห่งชาติ
ยังมีหลักฐานอีกด้วยว่า นายขนมต้มอาศัยอยู่บริเวณวัดจุฬามณี ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งในปัจจุบันคือบริเวณอาคารใกล้สี่แยกชลประทาน บริเวณทางเข้าวัดจุฬามณี ซึ่งอยู่ห่างจากอนุสาวรีย์นายขนมต้มไปทางทิศใต้ประมาณ ๑๐๐ เมตร