ระบบการศึกษาอินโดนีเซีย
ระบบการศึกษาในโรงเรียนประกอบด้วยระดับการศึกษาขั้นต่างๆ ดังนี้คือ การศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาชั้นมัธยมและการศึกษาระดับสูง นอกเหนือจากระดับการศึกษาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีการศึกษาก่อนวัยเรียนเพื่อเตรียมความพร้อมของเด็กด้วย การศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามเกณฑ์จะใช้เวลา 9 ปีโดยเรียนชั้นประถมศึกษา 6 ปีและชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี มีเป้าหมายเพื่อจัดหาทักษะพื้นฐานในการพัฒนาตนเองในฐานะที่เป็นปัจเจกชน สมาชิกในสังคม ประชากรในประเทศและโลก เท่าๆ กับที่เตรียมก้าวเข้าสู่การศึกษาระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนประถมศึกษาจะกำหนดโครงการการศึกษาเป็นเวลา 6 ปีซึ่งโรงเรียนจะมีลักษณะแตกต่างกัน 2 แบบ คือ โรงเรียนประถมศึกษาแบบทั่วไป (general primary school) และโรงเรียนประถมศึกษาพิเศษสำหรับเด็กพิการ (special primary school for handicapped children) สำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นจะกำหนดการเรียนเป็นเวลา 3 ปี และมีลักษณะแบบเดียวกับของโรงเรียนระดับประถมศึกษาคือ มีโรงเรียนแบบทั่วไปและโรงเรียนพิเศษสำหรับเด็กพิการ โรงเรียนมัธยมศึกษา รับผู้จบการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ใช้เวลาเรียน 3 ปี โดยมีรูปแบบของการจัดการศึกษาหลายแบบ เช่น แบบสามัญทั่วไป แบบสามัญวิชาชีพ แบบสามัญทางศาสนา แบบสามัญบริการ และแบบการศึกษาพิเศษ วัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษามีดังนี้คือ
.พัฒนาความรู้แก่นักเรียนให้ได้ศึกษาต่อเนื่องไปถึงขั้นสูง และเพื่อพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศาสตร์แขนงต่างๆ
พัฒนาความสามารถของนักเรียนในฐานะเป็นสมาชิกของสังคม ให้มีปฏิสัมพันธ์ต่อสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ
การศึกษาระดับมัธยมศึกษาทั่วไป หลักสูตรประกอบด้วยโครงการวิชาการสอนทั่วไปและการสอนเฉพาะวิชา เพื่อเตรียมความรู้และพัฒนาทักษะสำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาต่อไป
การศึกษาระดับมัธยมศึกษาทางวิชาชีพ เหมาะสำหรับผู้ต้องการเข้าสู่วิชาชีพ สามารถแยกการศึกษานี้ออกเป็น 6 กลุ่มในสาขาวิชาชีพต่างๆ ดังนี้คือ
เกษตรกรรมและการป่าไม้
เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม
ธุรกิจและการจัดการ
ความเป็นอยู่ของชุมชน
การท่องเที่ยว
ศิลปหัตถกรรม
การศึกษาระดับมัธยมศึกษาด้านศาสนา เป็นการจัดการศึกษาด้านศาสนาโดยเฉพาะ
การศึกษาระดับมัธยมศึกษาแบบบริการ เป็นการจัดการศึกษาเพื่อเตรียมความรู้ความสามารถสำหรับผู้ที่จะเข้าเป็นพนักงานหรือข้าราชการ
การศึกษาระดับมัธยมศึกษาพิเศษ เป็นการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่พิการทางร่างกายและ/หรือจิตใจ
การศึกษาระดับสูง หรืออุดมศึกษา เป็นการขยายไปจากการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ระดับปริญญาตรีใช้เวลาเรียน 3-4 ปี ปริญญาโท 2 ปี และปริญญาเอก 3 ปี สถาบันที่ให้การศึกษาระดับสูงนี้มีลักษณะเป็นสถาบันวิชาการ โพลีเทคนิค สถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัย
ประเทศอินโดนีเซีย ชาติที่ได้ชื่อว่ามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มี ประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก หรือกว่า 240 ล้านคน มากกว่าไทยเกือบ 4 เท่า และยังเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลกอีกด้วย ในเรื่องการศึกษา อินโดนีเซียไม่มีแผนการเรื่องการแข่งขันกับนานาชาติ หรือการจะเป็นฮับการศึกษาอินเตอร์ในภูมิภาคนี้แต่อย่างใด ต่างจากสิงคโปร์ มาเลเซีย หรือ ไทย ด้วยอาจเป็นเหตุผลด้านการเป็นชาติระดับแนวหน้าของโลกมุสลิม ทำให้ค่อนข้าง ไม่ให้ความสำคัญกับตะวันตกมากนัก โดยเฉพาะเรื่องการสนับสนุนด้านภาษาต่างประเทศ ในทางกลับกันอินโดนีเซียมักให้น้ำหนักไปที่การศึกษาในเชิงศาสนาอิสลาม เพื่อสร้างบุคลากรในการเป็นข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อย่างไรก็ตาม จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งทางด้านการศึกษาของอินโดนีเซียก็คือ การเน้นการศึกษาวิชาชีพให้กับผู้เรียนระดับมัธยมศึกษา โดยมี 6 กลุ่มในสาขาวิชาชีพสำคัญคือ
เกษตรกรรมและการป่าไม้
เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม
ธุรกิจและการจัดการ
ความเป็นอยู่ของชุมชน
การท่องเที่ยว
ศิลปหัตถกรรม
มหาวิทยาลัยชื่อดังของอินโดนีเซียที่เป็นที่รู้จักของเพื่อนร่วมอาเซียนมีไม่กี่แห่ง ซึ่งก็มักเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รัฐบาลกำหนดให้ทุนการศึกษาแก่ประเทศในภูมิภาคนี้ ไปศึกษาด้านภาษาและศิลปะวัฒนธรรม เช่น มหาวิทยาลัยแห่งชาติอินโดนีเซีย (Universitas Indonesia) ที่ตั้ง อยู่ในเมืองหลวงจาการ์ต้า อีกแห่งคือ มหาวิทยาลัยกัดจาห์ มาดา (Universitas Gadjah Mada)ที่อยู่ที่ย๊อกจาการ์ตา ส่วนอีก 2 แห่งที่อยู่ในเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนด้วย คือ สถาบันเทคโนโลยีบันดุง (Institut Teknologi Bandung) ที่เมืองบันดุง และ มหาวิทยาลัยแอร์ลังกา (Universitas Airlangga) ตั้งอยู่ที่เมืองซูราบายา